Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อาจารย์ ดร.ภก.สุริยัน เต็งใหญ่ : สนใจศึกษาและพัฒนายารักษาโรคเบาหวาน

22/12/2559

7398



อาจารย์ ดร. เภสัชกรสุริยัน เต็งใหญ่ อาจารย์สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีสนใจศึกษาเกี่ยวกับยารักษาโรคเบาหวาน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ยาที่ยับยั้งเอนไซม์แอลฟ่ากลูโคสิเดส (α-glucosidase) และเอนไซม์แอลฟ่าอะไมเลส (α-amylase) และกลุ่มที่ 2 ยาที่ยับยั้งเอนไซม์ไดเปปติดิล ไดเปปติเดสสี่ (dipeptidyl peptidase-4 : DPP-4) เพื่อค้นหายารักษาโรคเบาหวานตัวใหม่

อาจารย์ ดร. เภสัชกรสุริยัน เป็นคนภูเก็ต สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี-เอก จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศึกษาต่อระดับหลังปริญญาเอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยทำวิจัยในหัวข้อ Population pharmacokinetics and pharmacodynamics study of piperazillin/tazobactam during early phase in critically ill patients with severe sepsis and septic shock

อาจารย์ ดร. เภสัชกรสุริยัน เล่าให้ฟังเกี่ยวกับโรคเบาหวานว่า เป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาต่อประชากรโลก เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานสูงถึง 415 ล้านคนในปี 2558 และสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติคาดการณ์ว่า จะมีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นเป็น 642 ล้านคน ในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งระหว่างที่ศึกษาในระดับปริญญาเอกได้ศึกษาและทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ Structure activity relationship of antitubercular scalaranes ที่เกี่ยวกับการพัฒนาและออกแบบโมเลกุลสารออกฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรค จึงมีความสนใจนำความรู้ด้านเคมียาที่ศึกษามาใช้ในการพัฒนาค้นหายารักษาโรคเบาหวานตัวใหม่ หรือพัฒนาโครงสร้างยาเดิมให้มีฤทธิ์การรักษามากขึ้น อาจารย์ ดร. เภสัชกรสุริยัน เล่าถึงเป้าหมายของงานวิจัยว่า มีความมุ่งมั่นในการพัฒนายารักษาโรคเบาหวาน ซึ่งในระยะแรกนี้สนใจพัฒนาโมเลกุลของยาที่มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดผ่านกลไกการออกฤทธิ์ 2 กลไก คือ 1 ยาที่ยับยั้งเอนไซม์แอลฟ่ากลูโคสิเดส (α-glucosidase) และเอนไซม์แอลฟ่าอะไมเลส (α-amylase) ซึ่งเอนไซม์ 2 ตัวนี้ จะถูกสร้างและปล่อยสู่ลำไส้เล็กส่วนต้น ทำหน้าที่ย่อยคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว หากมียาที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าวได้ จะลดปริมาณการดูดซึมน้ำตาลและทำให้ลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดหลังการรับประทานอาหารได้ และ 2 ยาที่ยับยั้งเอนไซม์ไดเปปติดิล ไดเปปติเดสสี่ (dipeptidyl peptidase-4 : DPP-4) มีงานวิจัยหลายชิ้นพิสูจน์ พบว่า การยับยั้งเอนไซม์ DPP-4 จะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมน glucagon-like peptide (GLP-1) ในกระแสเลือด ซึ่งเป็นโมเลกุลเปปไทด์ในอยู่กลุ่มฮอร์โมนอินครีติน และมีบทบาทสำคัญในการลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ในระดับดี โดยไม่ส่งผลทำให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (อาการข้างเคียงที่พบบ่อยกับยาลดน้ำตาลรุ่นแรกๆ)

อาจารย์ ดร. เภสัชกรสุริยัน เล่าต่อถึงงานวิจัยเพื่อพัฒนายารักษาโรคเบาหวานว่า ได้ดำเนินการศึกษาพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ยับยั้งเป้าหมายของยา โดยคัดเลือกพืชสมุนไพรจำนวน 40 รายการ จากสมุนไพรที่เป็นส่วนผสมของตำรับยารักษาโรคเบาหวานของหมอพร (กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) และตำรับยาที่สั่งจ่ายเพื่อรักษาโรคเบาหวานของโรงพยาบาลวังน้ำเย็น จากนั้นทำการแยกองค์ประกอบทางเคมีของพืชเพื่อศึกษาสารที่ออกฤทธิ์ นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคนิคทางคอมพิวเตอร์ และความรู้ทางเคมียา และเคมีอินทรีย์ เพื่อคิดค้นโครงสร้างยาตัวใหม่ หรือพัฒนาจากโครงสร้างยาเดิมให้มีฤทธิ์ในการรักษาโรคเบาหวานที่ดีขึ้น มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทางวารสารทั้งระดับชาติและนานาชาติ จำนวน 7 เรื่อง และนำเสนอผลงานทั้งแบบปากเปล่าและโปสเตอร์ในการประชุมวิชาการทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 9 เรื่อง

ขณะเดียวกัน อาจารย์ ดร. เภสัชกรสุริยัน ก็ยังสนใจเกี่ยวกับการศึกษาขนาดยาที่ใช้ในผู้ป่วยกลุ่มพิเศษ เนื่องจากมีหลายงานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มพิเศษ ได้แก่ ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ ภาวะพิษเหตุติดเชื้อรุนแรง หรือภาวะช๊อค เป็นต้น มีความแปรปรวนของร่างกายค่อนข้างสูงซึ่งเกิดจากสภาวะโรค ส่งผลให้เภสัชจลนศาสตร์ของยาแปรปรวนด้วย ดังนั้นการใช้ขนาดยามาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยอาจจะไม่เพียงพอหรือเหมาะสมต่อการรักษาได้ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ จึงสนใจศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพลศาสตร์ของยาฆ่าเชื้อในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ขนาดยาที่เหมาะสมของผู้ป่วยต่อไป

ในตอนท้าย อาจารย์ ดร. เภสัชกรสุริยัน เต็งใหญ่ ได้บอกเล่าแนวคิดและเป้าหมายในการทำงานว่า ในการทำงาน “ถ้าเราไม่เริ่มทำ แล้วใครจะเริ่ม” ที่สำคัญ “ต้องทำให้ 1+1 > 2 ให้ได้” โดยมุ่งหวังพัฒนางานวิจัยด้านเคมียาในประเทศไทย เพื่อสร้างศักยภาพในการคิดค้นโมเลกุลยาตัวใหม่ รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่หน่วยต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์ เรียบเรียง