Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน : ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นวัตกรรมสหกิจศึกษา 4.0 “

อัพเดท : 27/03/2560

4191



ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นวัตกรรมสหกิจศึกษา 4.0 “ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “มหาวิทยาลัยกับพันธกิจสัมพันธ์เพื่อสังคมและการเรียนรู้ควบคู่การทำงาน” (University’s Social Engagement & Work-Integrated Learning Initiatives)

ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสร้างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อนำพาประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 ซึ่งการศึกษาเป็นเสมือนหนึ่งตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน โดยจะนำเสนอใน 2 ส่วน คือ ผลการศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสหกิจศึกษาในบริบท กรอบและแนวทาง ของประเทศไทยยุค 4.0 ที่เรียกว่า “นวัตกรรมสหกิจศึกษา 4.0”

ในฐานะนักการศึกษา ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร เล่าว่า ผลของการศึกษาไม่ว่าระยะสั้นหรือระยะยาว เป็นการดำเนินการเพื่ออนาคต การศึกษาจึงจำเป็นต้องสอดคล้อง สนองตอบต่อความเปลี่ยนแปลงและความต้องการในอนาคต หมายความว่า เราจัดการศึกษาวันนี้ เพื่อตอบสนองสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงและความต้องการในอนาคตอีก 20 ปี เราต้องรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงและความต้องการเป็นอย่างไร แล้วเราจะไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร สภาพปัจจุบันและปัญหาของประเทศไทยสรุปจากผลการศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ พบว่า ประชาชนมีรายได้ระดับปานกลาง มีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้สูง มีการทุจริตคอรัปชั่นมาก และมีความขัดแย้งรุนแรงในระดับที่ต้องมีการสร้างความปรองดอง ในส่วนของปัญหา พบว่า ทุนมนุษย์อ่อนด้อย จึงต้องมีการพัฒนาคนให้มีคุณภาพและสามารถที่จะแข่งขันได้ ทุนสังคมที่อ่อนแอ ทุนธรรมชาติที่เสื่อมโทรม เพราะเราไม่ระวังสิ่งแวดล้อม ใช้สิ่งแวดล้อมโดยปราศจากความเมตตาปรานี คุณธรรมจริยธรรมที่เสื่อมโทรม จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งรัด ขจัดปัญหาและสร้างกรอบยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศไทยสู่อนาคตที่ท้าทายในช่วง 20 ปี ข้างหน้า โดยการเปลี่ยนผ่านสู่ประเทศในโลกที่หนึ่ง นั่นคือ มีการกระจายความมั่งคั่ง ประชาชนมีรายได้สูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดโมเดลประเทศไทย 4.0 ซึ่งในอดีต ประเทศไทยยุค 1.0 เกษตรกรรม ประเทศมีรายได้ต่ำ ขับเคลื่อนได้ด้วยที่ดินและทรัพยากรน้ำ ประเทศไทยยุค 2.0 และ 3.0 เป็นยุคอุตสาหกรรมเบาและหนัก ประเทศมีรายได้ปานกลาง เป็นการขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ การเข้าสู่ยุค 4.0 นั้น ต้องเน้นไปที่พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และเรื่องสุขภาพ เป็นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ได้กล่าวถึง พลวัตโลกในศตวรรษที่ 21 ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมใน 4 อย่าง คือ วัฒนธรรมการดำรงอยู่ การเรียนรู้ การทำงาน และการดำเนินธุรกิจ ซึ่งส่งผลต่อ 1) เรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย ที่เน้นการใช้ความรู้สร้างนวัตกรรม 2) เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เน้นการใช้ความคิด กระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ 3) เรียนรู้เพื่อส่วนรวม เน้นปลูกจิตสาธารณะและมีความรับผิดชอบต่อสังคม และ 4) เรียนรู้เพื่อการนำไปปฏิบัติ ผ่าน STEAM คือ Science, Technology, Engineering, Art และ Mathematics โดยกระบวนการเรียนรู้นี้ จะเตรียมคนไทย 4.0 คือ มีปัญญาที่เฉียบแหลม ทักษะที่เห็นผล สุขภาพที่แข็งแรง และจิตใจที่งดงาม เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไทย 4.0 คือสังคมที่มีความหวัง เปี่ยมสุขและสมานฉันท์ เพราะฉะนั้นการก้าวใหม่สู่การเป็นมหาวิทยาลัย 4.0 คือ สร้างคน สร้างความรู้ ที่มีกระบวนการวิจัยช่วยสร้างนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนสิ่งที่ต้องการจะขับเคลื่อนให้สามารถแข่งขันได้ การตอบสนองโมเดลประเทศไทย 4.0 โดยพันธกิจ 3 สร้าง คือ สร้างทุนมนุษย์ให้เป็นคนที่สมบูรณ์ เน้นความเป็นพลเมืองที่มีความไฝ่รู้ ตื่นรู้ พลเมืองที่มีจิตสาธารณะ พลเมืองที่เป็นผู้ที่มีความพร้อมที่จะเป็นพลเมืองอาเซียนและประชาคมโลก การศึกษาจะต้องสร้างคนให้มีความสมบูรณ์ มีทักษะวิชาชีพด้านวิชาการที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการและใช้ประโยชน์ได้ จะต้องสร้างความรู้และสร้างวัฒนธรรมที่ชัดเจน คำเหล่านี้มีความหมาย แม้จะพูดสั้นสั้นแต่ทำไม่ง่าย ทั้งเรื่องอาหาร เกษตร พลังงาน ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ สุขภาพ และการท่องเที่ยว ถ้าจะไปสู่จุดนี้ให้ได้มหาวิทยาลัยในประเทศไทย 100 กว่าแห่ง ทั้งรัฐและเอกชนคงต้องทำสิ่งที่เรียกว่า การปรับยุทธศาสตร์ ซึ่งวิธีในการปรับยุทธศาสตร์ ก็คือ ดูว่าตนเองมีความเก่งด้านไหน และเหลียวดูว่า ในพื้นที่เดียวกัน เช่น ภาคใต้ ระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และวลัยลักษณ์ มีอะไรที่ทำร่วมกันได้ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันอย่างเดียวกัน ให้ร่วมกันคิดร่วมกันทำ รวมทั้งไปขอความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย เพื่อทำให้องค์ความรู้เหล่านี้เข้มแข็งและเป็นไปตามความพร้อมของแต่ละมหาวิทยาลัย ก่อให้เกิดแผน 20 ปี ที่จะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และประเทศไทยยุค 4.0 แล้วทำให้สำเร็จ นั่นก็คือ การประกาศตัวที่จะเป็นมหาวิทยาลัย 4.0

ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ในฐานะที่ได้รับยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งสหกิจศึกษา” เพราะเป็นผู้นำระบบสหกิจศึกษาเข้ามาสู่ในประเทศไทย กล่าวต่อว่า ก้าวใหม่สู่การเป็นสหกิจศึกษายุค 4.0 ในศตวรรษที่ 21 เป็นส่วนหนึ่งของอุดมศึกษา 4.0 เพื่อที่จะช่วยให้อุดมศึกษา 4.0 มีความเข้มแข็งขึ้น โดยเสริมสร้างคุณภาพการสร้างคน สร้างความรู้ และสร้างนวัตกรรม ที่มีความเป็นเลิศตรงกับความต้องการและใช้ประโยชน์ได้จริง ตามมาตรฐานวิชาการที่ สกอ. กำหนด ทำให้นักศึกษามีความพร้อมในการทำงานและสามารถทำงานได้ทันที และจากการสำรวจผู้ใช้บัณฑิต ทำให้ค้นพบสิ่งสำคัญ 3เรื่อง คือ 1) การสร้างบัณฑิตที่จบมาแล้วสามารถทำงานได้ทันที 2) มีความอดทน และ 3) มีภาษาอังกฤษที่มีความก้าวหน้า เมื่อผลเป็นเช่นนี้ จึงได้นำสหกิจศึกษามาผูกไว้กับการทำงาน แล้วเรียกว่า “กิจที่ทำร่วมกับการศึกษา” เมื่อเริ่มจัดสหกิจศึกษาในประเทศไทยได้จัดเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรปริญญาตรีต่อยอดวิชาเฉพาะและวิชาชีพในระดับปี 4 โดยให้ไปปฎิบัติงานเต็มเวลา 4 เดือน ในสถานประกอบการ ทำให้เป็นที่มาของการเรียน 3 ภาคการศึกษา เป็น Teaching Engagement ระหว่างสถานประกอบการ (University-Workplace Engagement) เกิดเป็นมิติของการร่วมคิด ร่วมทำ ตั้งแต่ต้น ร่วมกันได้ประโยชน์ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ก็จะเกิดเป็นภาระ ต้องเรียนรู้ร่วมกันและนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น สุดท้ายเกิดผลกระทบที่ดีต่อสังคม

ปัจจุบันมาถึงระยะที่สอง ระยะเวลาการปฏิบัติสหกิจศึกษาเพื่อให้เกิดความเป็นเลิศมากขึ้นในระดับปริญญาตรี โดยการปฏิบัติสหกิจศึกษามากกว่า 1 ครั้ง ตั้งแต่ปี 3 – ก่อนจบการศึกษา สลับการเรียนในสถานศึกษากับการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ ขยายขอบเขตการจัดสหกิจศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตและพัฒนาบัณฑิตในสาขาวิชาชีพเฉพาะ เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมประสบการณ์ทำงานของนักศึกษาในสถานประกอบการประเภทกิจการเพื่อสังคม(Social Enterprise) จัดสหกิจศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ต่อยอดการผลิตและพัฒนานักวิจัยให้สามารถสร้างความรู้ใหม่และนวัตกรรม เป็น Research Engagement ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานวิจัยและนวัตกรรม ก็จะเกิดการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมได้รับความรู้ เรียนรู้ร่วมกันเกิด Social Media และการขยายการจัดสหกิจศึกษาในระบบนานาชาติ เพื่อการเคลื่อนย้านแรงงานความรู้ในประชาคมโลกให้กว้างขวาง สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและอนาคต เป็น International Engagement ระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการทั่วโลก จัดเป็นส่วนหนึ่งของ Young Talent Mobility โดยใช้สหกิจศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคนรุ่นใหม่ทดแทนคนรุ่นเก่าให้สามารถแข่งขันได้ บางบริษัทเอกชนของไทยจะรับสมัครบุคลากรที่ผ่านระบบสหกิจศึกษาเข้าทำงานแล้วไปพัฒนาเพิ่มเติม

ในตอนท้าย ศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่สองของโลกที่มีการเปิดสอนระดับปริญญาโท-เอก ด้านสหกิจศึกษา ทำให้การพัฒนาสหกิจศึกษาไทยเป็นระบบ ครบกระบวนการทุกด้าน ทั้งการปฏิบัติ การศึกษาอบรม การวิจัย ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาคน ความรู้และนวัตกรรม ที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทย 4.0 ตามยุทธศาสตร์ชาติ