Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

สำนักวิชาแพทยศาสตร์ จัดงานประชุม Living Will and Palliative Care เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการสร้างสุขที่ปลายทางตามมาตรา ๑๒

อัพเดท : 04/04/2560

1112

จัดการประชุม Living Will and Palliative Care เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการสร้างสุขที่ปลายทางตามมาตรา ๑๒

ภาพรวม

เมื่อเร็วๆ นี้  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดการประชุม Living Will and Palliative Care เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการสร้างสุขที่ปลายทางตามมาตรา ๑๒ ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ณ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช

นพ พลเดชนพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ปาฐกถาพิเศษ “พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ กับการสร้างสุขภาวะของชีวิต” ว่า ขณะนี้ สช. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเปิดเวทีวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย (Living Will) ทั่วประเทศ รวมถึงสนับสนุนโรงพยาบาลหลายแห่งวางระบบและพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care) และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ผลักดันให้เป็นศูนย์กลางเผยแพร่ข้อมูลสร้างความรู้ความเข้าใจต่อแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขในสถานพยาบาลพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ให้เห็นความสำคัญและเจตนารมณ์การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย (Living Will)  และวางระบบรองรับการดูแลแบบประคับประคองรองรับการให้บริการผู้ป่วยระยะท้าย เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในเวลาที่เหลืออยู่ ในรูปแบบการพัฒนา ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Hospice) ของทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเป็นทางเลือกของผู้ป่วยและครอบครัวในอนาคต เป็นการเตรียมพร้อมรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศที่อยู่ในภาวะต้องดูแลแบบประคับประคองมากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติเพื่อรองรับการทำงาน โดยเฉพาะการนำผู้ป่วยระยะสุดท้ายไปดูแลที่บ้าน และการให้ยากับผู้ป่วยเพื่อลดความทรมาน รวมถึงต้องอาศัยแนวคิดใหม่ๆ ในการเปิดให้มี ศูนย์บริการยืมเครื่องมือ ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายต่อไป

นพ.ธารินทร์ เพ็ญวรรณ สำนักวิชาแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีจำนวนผู้สูงอายุเกิน ๑๐๐ ปี สูงเป็นอันดับ ๒ รองจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี และคาดว่าจะขึ้นเป็นอันดับ ๑ เร็วๆ นี้ ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ พัฒนาระบบการดูแลประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้าย และร่วมมือกับ สช. ในการสนับสนุนองค์ความรู้และฝึกอบรมบุคลากรโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์วลัยลักษณ์เพื่อรองรับการปฏิบัติงาน รวมถึงการเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ซึ่งจะมีการลงนาม บันทึกความร่วมมือ (MOU) ในเร็วๆนี้  และล่าสุดมหาวิทยาลัยฯ ได้รับอนุมัติงบประมาณวงเงิน ๒๕๓ ล้านบาท เพื่อจัดทำ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยเฉพาะ(Hospice) ขนาดประมาณ ๒๐ เตียง ภายใต้แนวคิดการให้ผู้ป่วยและญาติได้อยู่ใกล้ชิดกัน มีบุคลากรทางการแพทย์เป็นพี่เลี้ยง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมให้บริการผู้ป่วยจากโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์วลัยลักษณ์และจากภายนอกได้ในอีก ๓-๔ ปีข้างหน้า 

รายละเอียดเพิ่มเติม : http://www.thaisaeree.com/home/index.php?option=com_content&view=article&id=1735