Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน : นวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยสำหรับความปลอดภัยในอาหารและบรรจุภัณฑ์

10/04/2560

3380

รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และทีมงาน บรรยายพิเศษเรื่อง “นวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยสำหรับความปลอดภัยในอาหารและบรรจุภัณฑ์” ในการประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย ครั้งที่ 9” ภายใต้แนวคิด Research for Competitiveness and Contextual Innovation เนื่องในโอกาสครบปีที่ 25 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์



รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล เริ่มจากการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนรู้ในองค์ความรู้ขั้นพื้นฐานอย่างละเอียดลึกซึ้งกับการพัฒนาองค์ความรู้ของนักวิจัยให้ไปสู่ขั้นสูงเพื่อการสร้างนวัตกรรม โดยได้อธิบายถึงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมว่า การศึกษาในระดับประถมศึกษาเป็นความรู้ที่ได้มาจากครู พอถึงระดับมัธยมศึกษาก็มีการขยายฐานความรู้กว้างขึ้น จนถึงระดับปริญญาตรี องค์ความรู้ที่ได้รับจะมีพัฒนาการในเชิงลึกมากขึ้นและเฉพาะเจาะจงในสิ่งที่สนใจ ยิ่งเมื่อศึกษาถึงระดับปริญญาโทและเอกแล้วจะต้องมีการสร้างองค์ความรู้ใหม่ โดยยกตัวอย่างว่าตนเองกว่าจะพัฒนางานวิจัยให้สร้างนวัตกรรมบางอย่างได้ ต้องผ่านการเรียนรู้ตั้งแต่วัยเยาว์ จนถึงระดับปริญญาเอกโดยมีพ่อ แม่ ครู อาจารย์เป็นผู้คอยให้ความรู้ จนเกิดความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะศาสตร์ด้านน้ำมันหอมระเหย ที่ตนเองมีความหลงไหลในเสน่ห์ของสิ่งนี้ตั้งแต่การทำวิจัยครั้งแรกในระดับปริญญาตรีจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง 23 ปี จนเกิดเป็นนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยในที่สุด

จุดเริ่มต้นของงานวิจัยทางด้านน้ำมันหอมระเหยของ รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล เริ่มจากการศึกษาองค์ความรู้พื้นฐานทางด้านนี้ โดยศึกษางานวิจัยและบทความทางวิชาการต่างๆ รวมทั้งการทดลองทำในห้องปฏิบัติการ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ช่วงที่มาเป็นอาจารย์ที่สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอก จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาและกลับมาสอนหนังสืออีกครั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรด้านอุปกรณ์และห้องปฏิบัติการ และสถาบันวิจัยและพัฒนาที่ให้ทุนส่งเสริมนักวิจัยใหม่ ทำให้มีผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 10 เรื่อง จนมีความเชื่อมั่นว่า รู้จักพฤติกรรมและธรรมชาติของน้ำมันหอมระเหยเพียงพอต่อการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับน้ำมันหอมระเหยได้

จากองค์ความรู้พื้นฐานที่ได้ศึกษาและเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่อง ถึงเวลาของการสร้างองค์ความรู้ใหม่จากน้ำมันหอมระเหย ซึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล บอกว่า การเลือกโจทย์วิจัยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ก่อนจะเริ่มการวิจัยจะต้องศึกษาโจทย์วิจัยว่า น้ำมันหอมระเหยเหมาะกับสิ่งไหนบ้าง ในที่สุดก็ค้นพบว่า ควรจะเป็นอาหารและบรรจุภัณฑ์ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และจากการศึกษาโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวนกว่า 4,685 โครงการ โดยลงลึกในรายละเอียดของโครงการในพระราชดำริที่ดำเนินการในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พบว่า วัตถุดิบในท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีศักยภาพที่ควรนำมาประยุกต์ใช้คือ ไม้ยางพารา มังคุด ข้าวไข่มดริ้น แก้วมังกร และส้มโอทับทิมสยาม ซึ่งตลอดเวลา 10 ปีกว่าที่ผ่านมา ทำให้เชื่อมั่นว่า เลือกโจทย์วิจัยที่เหมาะสมกับการพัฒนานวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยสำหรับความปลอดภัยในอาหารและบรรจุภัณฑ์

รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล เล่าต่อว่า งานวิจัยที่โดดเด่นเป็นเรื่องบรรจุภัณฑ์ไม้ยางพาราต้านเชื้อรา และการยืดอายุข้าวโดยใช้ไอน้ำมันหอมระเหย ซึ่งนครศรีธรรมราชเป็นแหล่งอุตสาหกรรมไม้ยางพาราที่สำคัญของประเทศ และเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณภาพสูง มีสารอาหารสูงเช่น โปรตีนที่ไม่ถูกทำลายได้ง่ายจากการแปรรูป แต่ปัญหาหนึ่งที่พบ คือการเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งปัญหาวัตถุดิบกับการเสื่อมสภาพเป็นของคู่กัน จึงทำการศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงปัญหานี้ พบว่า เชื้อราเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก เนื่องจากภาคใต้ฝนตกชุก ความชื้นสูง ถ้ากำจัดความชื้นกับออกซิเจนจะทำให้เชื้อราไม่เติบโต ซึ่งคุณสมบัติทั้งสองอย่างนี้มีอยู่ในอนุภาคเล็กๆ ของน้ำมันหอมระเหย แต่เราจะทำอย่างไรที่จะนำมาใช้ป้องกันสองสิ่งนี้ได้

หลังจากที่มีโจทย์และทราบปัญหาแล้ว เบื้องต้นรองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล และทีมงานได้ร่วมมือกับหน่วยวิจัยไม้ (ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ พัฒนาเทคนิคการนำน้ำมันหอมระเหยมาอยู่ในเนื้อไม้เพื่อไม่ให้ขึ้นรา โดยการทดลองในไม้ยางพารา เพื่อป้องกันเชื้อราและใส่กลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยลงไป จากนั้นได้พัฒนาต่อยอดงานวิจัยไปสู่วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้าน และร่วมกับภาคเอกชนอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ได้เล่าต่อถึงการสร้างนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยหลังจากที่ได้ทดลองทำกับไม้ยางพาราแล้วว่า น้ำมันหอมระเหยทั้งส่วนที่เป็นของเหลวและไอสามารถต้านเชื้อจุลินทรีย์ได้ ซึ่งการใช้ไอของน้ำมันหอมระเหยสามารถช่วยลดผลกระทบต่อกลิ่นรสของอาหารได้ จึงได้ทำการทดลองเพื่อหาเทคนิคการจัดระเบียบของไอระเหย จนพบเทคนิคการเก็บกักและควบคุมให้ไอระเหยระเหยได้ตามเวลา โดยออกฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์บริเวณผิวที่สัมผัสได้อย่างยาวนาน ทั้งนี้การประยุกต์ใช้ไอน้ำมันหอมระเหย มีข้อดี คือ มีความสามารถในการยับยั้งเชื้อราสูง สามารถแทรกซึมและป้องกันเชื้อจุลินทรีย์บนพื้นผิวอาหาร มีผลกระทบต่อกลิ่นและรสของอาหารน้อย จึงได้นำไปพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระสอบข้าวหอมกันเชื้อรา กระดาษต้านเชื้อราสำหรับบรรจุวัตถุดิบเกษตร ถาดไข่ต้านแบคทีเรียสำหรับลำเลียงไข่ไก่สดในระดับอุตสาหกรรม เป็นต้น

จากความมุ่งมั่นตั้งใจและความหลงไหลในเสน่ห์ของน้ำมันหอมระเหย ทำให้ผลงานทางด้านนี้ของ รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ได้รับรางวัลผลงานนวัตกรรมระดับเหรียญทองจากการประกวดและจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ (ITEX) รางวัลพิเศษจากสมาคมสิ่งประดิษฐ์และทรัพย์สินทางปัญญาโลก และรางวัลพิเศษจากไต้หวันและรัสเซีย เป็นต้น ได้รับทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องจากแหล่งทุนต่างๆ ที่สำคัญของประเทศ เช่น มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ทั้งยังมีนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ซึ่งได้รับทุนการศึกษาจากแหล่งทุนต่างๆ เช่น ทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ทุนโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) และทุนบัณฑิตศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นต้น

จากนวัตกรรมด้านน้ำมันหอมระเหยของห้องปฏิบัติการนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยสำหรับความปลอดภัยในอาหารและบรรจุภัณฑ์ ที่มีผลงานวิจัยออกมาอย่างต่อเนื่อง สามารถนำไปต่อยอดและใช้ได้จริงในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผลได้จากนวัตกรรมเหล่านี้ รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน บอกในตอนท้ายว่า อยากเห็นผลงานวิจัยด้านนี้ไปสู่อุตสาหกรรมไทยและผลิตออกจำหน่ายไปทั่วโลก อยากให้คนไทยได้ภูมิใจกับการได้ใช้ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันหอมระเหยที่มีความปลอดภัยสูง ภูมิใจกับนวัตกรรมของนักวิจัยไทย สุดท้ายอยากสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ด้านนวัตกรมน้ำมันหอมระเหยให้กับประเทศของเรา โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้งภาครัฐและเอกชนจะสนับสนุนการทำงานวิจัยด้านนี้ต่อไปเพื่อต่อยอดงานวิจัยและให้ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาอย่างต่อเนื่องต่อไป เพราะการศึกษาด้านน้ำมันหอมระเหยเป็นสิ่งที่ทำด้วยความรักมาตลอด 23 ปี ของการเรียนและการทำงาน จึงมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าหากได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจะทำให้ขยายผลตามความตั้งใจได้อย่างแน่นอน



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง