Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

นักวิจัยฯมวล.คว้ารางวัลเทคโนโลยีด้านคลื่นไมโครเวฟจากวช.

14/06/2555

14245

นักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศเทคโนโลยีพลาสมาเพื่อการกสิกรรม ม.วลัยลักษณ์(มวล.) คว้า 3 รางวัล ด้านการใช้เทคโนโลยีคลื่นไมโครเวฟพัฒนาสิ่งประดิษฐ์สู่ชุมชน จากเวทีการประกวดนักประดิษฐ์ภูมิภาค : นำนวัตกรรมสู่ชุมชน ประจำปี 2555 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)
 

นายไพรวัลย์ เกิดทองมี นักวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศเทคโนโลยีพลาสมาเพื่อการกสิกรรมและนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนและนายศิวกร เพชรทอง นักวิจัยจากศูนย์ดังกล่าว ได้ส่งผลงานเรื่อง เครื่องอบแห้งข้าวพองโดยคลื่นไมโครเวฟ เข้าประกวดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม ประเภทข้าว ในงานวันนักประดิษฐ์ภูมิภาค : นำนวัตกรรมสู่ชุมชน ประจำปี 2555 “พลิกฟื้น ส่งเสริม เพิ่มมูลค่า ยางพารา ข้าว ปาล์ม ประมง” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติจัดขึ้น ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ผลปรากฏว่าผลงาน เรื่อง เครื่องอบแห้งข้าวพองโดยคลื่นไมโครเวฟ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้รับถ้วยรางวัล เกียรติบัตรพร้อมเงินรางวัลจำนวน 10,000 บาท โดยสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวถือเป็นผลงานเพียงผลงานเดียวเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินของคณะกรรมการและได้รับรางวัล จากผู้ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ประกวดกว่า 30 ผลงานทั่วภาคใต้
 

ทั้งนี้ นอกจากรางวัลดังกล่าวแล้ว ตนและทีมงานยังได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ประเภท การนำนวัตกรรมสู่ชุมชน ซึ่งเป็นรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล ประกอบด้วย ผลงานเรื่องเครื่องอบแห้งสมุนไพรด้วยคลื่นไมโครเวฟ และเครื่องให้ความร้อน(Cruing)โพลีเมอร์หลังการอัดฉีด(Extruder) ด้วยคลื่นไมโครเวฟ ได้รับถ้วยรางวัล เกียรติบัตร พร้อมเงินรางวัลผลงานละ 5,000 บาท อีกด้วย
 

นายไพรวัลย์ กล่าวถึงสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลทั้ง 3 ผลงานว่า ปัจจุบัน ม.วลัยลักษณ์ ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านคลื่นไมโครเวฟมาอย่างต่อเนื่อง และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ชุมชนมาโดยตลอด ซึ่งเครื่องอบแห้งข้าวพองโดยคลื่นไมโครเวฟ สามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มแม่บ้านข้าวพองแม่บุญจิต อบต.ปากนคร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช นำไปใช้ในการอบข้าวพองในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญไม่สามารถนำข้าวพองตากแดดได้ โดยหลังจากใช้เครื่องดังกล่าวทำให้กลุ่มข้าวพองแม่บุญจิต สามารถทอดข้าวพองจำหน่ายได้ทุกฤดูกาล ส่วนเครื่องอบแห้งสมุนไพรด้วยคลื่นไมโครเวฟ ได้เข้ามาช่วยอบแห้งสมุนไพรเพื่อผลิตผงนัวส์ แทนการตากสมุนไพรด้วยแดดซึ่งจะมีปัญหาในช่วงฤดูฝนเช่นเดียวกับเครื่องอบแห้งข้าวพอง อีกทั้งหากมีแดดก็ต้องใช้เวลาตากถึง 3 วัน และการตากแดดทำให้คุณสมบัติทางเภสัชกรรมของสมุนไพรลดลงจากอุณหภูมิที่สูงจนเกินไปด้วย โดยกลุ่มแม่บ้าน อบต.ปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ได้นำเครื่องดังกล่าวแล้วเช่นกัน
 

นอกจากนี้ในส่วนของเครื่องให้ความร้อน(Cruing)โพลีเมอร์หลังการอัดฉีด(Extruder) ด้วยคลื่นไมโครเวฟ ซึ่งมีคุณสมบัติขึ้นรูปวัสดุ/ชิ้นงาน โดยคลื่นไมโครเวฟสามารถให้ความร้อนโพลีเมอร์ได้ทั่วถึงทั้งภายในและภายนอก ทำให้ได้วัสดุ/ชิ้นงาน ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งสามารถเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีการให้ความร้อนด้วยหลอดอินฟราเรด ทำให้ชิ้นงานได้รับความร้อนไม่ทั่วถึง ชิ้นส่วนมีคุณสมบัติไม่ดี และไม่สามารถขยายขนาดและความหนาของชิ้นงานได้


ข่าวโดย นายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์
ภาพโดย ศูนย์ความเลิศเทคโนโลยีพลาสมาเพื่อการกสิกรรม และงานประชาสัมพันธ์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี