Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มวล.จัดสัมมนา “การศึกษาสู่อาเซียน : มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์”

08/03/2556

5084

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) จัดสัมมนาวิชาการหัวข้อ“การศึกษาสู่อาเซียน : มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์” โดยมีนักวิชาการ คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาสนใจเข้าร่วมกว่า 300 คน
 

สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดสัมมนาวิชาการหัวข้อ“การศึกษาสู่อาเซียน : มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์” ระหว่างวันที่ 3-4 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.อมรา ช้างทรัพย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เป็นประธานเปิดงาน โดยมี นักวิชาการ คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง และมหาวิทยาลัย วิทยาลัยและโรงเรียน ในพื้นที่ภาคใต้เข้าร่วมสัมมนา กว่า 300 คน
 

รศ.ดร.อมรา กล่าวว่า ประเด็นเรื่องอาเซียนได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในหลายวงการ รวมทั้งวงวิชาการด้วย จะเห็นได้จากการรณรงค์การนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียนผ่านสื่อต่างๆ ตลอดจนการจัดเสวนา สัมมนา หรือการประชุมในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ขึ้นนั้น ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ ประชาคมความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม
 

อย่างไรก็ตาม การศึกษาได้เข้ามีบทบาทในส่วนของประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งในแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียนและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC Blueprint) ได้กำหนดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นเป้ามายสำคัญเป็นอันดับแรก ในการเสริมสร้างวิถีชีวิตที่ดี การส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างกันของประชากรในภูมิภาคนี้ ซึ่งเน้นการเรียนรู้แลกเปลี่ยนด้านภาษาและวัฒนธรรมของนักเรียน รวมทั้งการสนับสนุนให้จัดทำหลักสูตรอาเซียนศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา
 

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ว่า จัดขึ้นเพื่อนำมุมมองด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มาพิจารณา ประเด็นที่มีความสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงการเมือง สังคม และวัฒนธรรมในบริบทอาเซียน ได้แก่ มิติทางประวัติศาสตร์ ภาษาและวัฒนธรรม วรรณกรรม ศาสนา ปรัชญา ตลอดจนการเมืองว่าด้วยพรมแดน ชาติพันธุ์และคนชายขอบ ซึ่งหากประมวลองค์ความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการเรียนการสอน จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกันของผู้คนในประชาคมอาเซียนได้เป็นอย่างดี
 

การสัมมนาในครั้งนี้ยังมุ่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เพื่อเปิดประตูสู่อาเซียนและรายวิชาศึกษาทั่วไปที่สอดคล้องกับองค์ความรู้ที่มีความเป็นพลวัต เพื่อเกื้อหนุนให้นักเรียน/นักศึกษาสามารถปรับตัวได้ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยหวังว่าความคิดเห็นและผลที่ได้จากการสัมมนาจะนำไปสู่การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนรายวิชาในหมวดศึกษาทั่วไป และอาเซียนศึกษาในอนาคตอีกด้วย
 

โอกาสเดียวกันนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ เป็นองค์ปาฐก ในหัวข้อ อาเซียน:ใกล้กันหรือใกล้ชิด โดยมีใจความสำคัญว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันมาเป็นเวลากว่า 1,000 ปี ดังนั้น การตั้งสมาคมอาเซียนไม่ได้เป็นของใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นการนำกฎหมายระหว่างประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มาก่อรูปให้เป็นทางการขึ้นมาในฐานะที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งนี้ในความคิดเกี่ยวกับการรวมตัวมีหลายระดับ โดยจะเริ่มต้นจากระดับปัจเจกบุคล จากนั้นขยายวงออกไปในรูปแบบของการรวมตัวเป็นชาติหรือประเทศ หลังจากนั้นจะมีการรวมตัวเข้ากันในระดับภูมิภาคกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยในขั้นแรกของการรวมตัวอาจเกิดจากเหตุผลทางด้านภูมิศาสตร์ แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปแล้วจะมีเหตุผลอื่นที่กระชับความสัมพันธ์ของชาติที่อยู่ใกล้กัน รวมถึงการรวมตัวกันเป็นประชาคมโลกในที่สุด
 

“เมื่อลองพิจารณาการรวมตัวกันเป็นประชาคมระดับภูมิภาคกับการรวมตัวกันเป็นประชาคมนานาชาติ ทั้งสองอย่างมีความแตกต่างกันอย่างไร เราจะให้ความสำคัญอะไรและสำคัญแค่ไหน รวมทั้งจะให้ความสำคัญในระดับไหนมากกว่ากัน เพราะมีเรื่องบางเรื่อง เช่น ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งมีผลกระทบกับคนทั้งโลก เราไม่สามารถตัดสินได้ในระดับภูมิภาค ต้องตกลงหรือช่วยกันแก้ปัญหากันในระดับองค์กรนานาชาติ นอกจากนี้สิ่งที่มีผลกระทบต่อคนทั่วไป เช่น ปัญหาเรื่องการเงิน การถ่ายเงินจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง เรื่องตลาดหุ้นมีขึ้นมีลง เรื่องดอกเบี้ยหรือราคาน้ำมันมีขึ้นมีลง ถ้ารัฐดำเนินการไม่ดีประชาชนก็จะลำบาก ตลอดจนรัฐบางรัฐที่มีอำนาจต่อรองทางการเงินสูงก็ทำให้ประเทศอื่นเดือดร้อนได้เช่นกัน” ศาสตราจารย์เกียรติกุล ดร.เจตนา กล่าว
 

จากนั้น เป็นการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “จินตนาการคือบทสนทนาว่าด้วยเรื่องที่เป็นไปได้ : ข้อเสนอจากพระพุทธองค์และขงจื่อ” โดย รศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันต์ หัวข้อ “ฉันคือใครในอาเซียน: สู่วิธีวิทยาแบบเพื่อนบ้านศึกษา” โดย ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร การเสวนากลุ่มย่อย หัวข้อ “มองอดีตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าใจปัจจุบันอาเซียน” “รู้จักเพื่อน รู้จักเรา : ภาษาและวัฒนธรรม" “บ้านเพื่อน เพื่อนบ้าน : การเมืองว่าด้วยพรมแดน ชาติพันธุ์ และคนชายขอบ” “ใจเขา ใจเรา : คติ ความเชื่อ ศาสนาและปรัชญา” และ “อ่านเอาเรื่อง : สังคมและการเมืองวัฒนธรรมในวรรณกรรมอาเซียนร่วมสมัย”
 

ส่วนในวันที่ 4 มีนาคม 2556 ยังมีการบรรยายพิเศษหัวข้อ “General Education : The Malaysian Experience” โดย Dr.Roosfa Hashim การเสวนาหัวข้อ “ประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนวิชาศึกษาทั่วไป” และ “ห้องเรียนภาษาอังกฤษเพื่อเปิดประตูสู่อาเซียน” โดยอาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ของ ม.วลัยลักษณ์

ภาพและข่าวโดย นายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์