Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

แนะนำนักวิจัย มวล. :ผศ.ดร.วรางคณา จุ้งลก เน้นวิจัยโรคมะเร็งช่องปาก

04/11/2556

9955

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา จุ้งลก อาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มุ่งมั่นศึกษาโรคมะเร็งช่องปากตั้งแต่ศึกษาในระดับปริญญาเอกจนถึงปัจจุบัน โดยศึกษาปัจจัยและกลไกที่เซลล์ปกติของมนุษย์เปลี่ยนไปเป็นเซลล์มะเร็ง การสร้างและพัฒนาโมเดลของเซลล์มะเร็งและฤทธิ์ทางชีวภาพของพืชและสมุนไพรที่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็ง รวมถึงกลไกการยับยั้งเซลล์มะเร็ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา จุ้งลก ศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนบูรณะรำลึก จังหวัดตรัง ขณะที่ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้สอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ และสามารถสอบเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปีการศึกษา 2539 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 และในปีการศึกษา 2543 ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่คณะและมหาวิทยาลัยเดิม โดยได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และทุน Deutscher Academischer Austausch Dienst (DAAD) จากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ขณะที่ศึกษาที่มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว ในปี 2548 ได้มาเป็นอาจารย์สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ขณะที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา สนใจศึกษาเรื่องโรคมะเร็งโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยและกลไกที่เซลล์ปกติสามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์มะเร็งช่องปากจาก การติดเชื้อ Human papillomavirus (HPV) ร่วมกับแอลกอฮอล์ โดยได้ทำวิจัยเรื่อง "Increased iNOS in transformed HPV-immortalized human keratinocytes following chronic ethanol treatment" ขณะที่ทำวิจัยในต่างประเทศนั้น ได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนเทคนิคต่างๆ ในการทำงานวิจัยด้านอณูชีววิทยาของมะเร็งจากสถาบันวิจัยมะเร็งแห่งชาติ (German Cancer Research Center : DKFZ) และจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี จากความสนใจในเรื่องที่ศึกษา ความรู้ที่ได้รับและการฝึกฝนเหล่านั้น ทำให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อเนื่องตลอดมา

เมื่อได้มาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้พัฒนางานวิจัยในเชิงลึก มุ่งเน้นเกี่ยวกับปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของภาคใต้ คือ “โรคมะเร็งช่องปาก” ซึ่งเป็นโรคมะเร็งชนิดที่พบมากกว่าภูมิภาคอื่นๆของประเทศ ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงโดยเฉพาะพันธุ์พืช จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพจากพืชและสมุนไพรและ กลไกการยับยั้งเซลล์มะเร็งช่องปาก เพื่อค้นหาสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ดีและไม่มีผลข้างเคียงกับผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งส่วนใหญ่ปฏิเสธการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ดังนั้นหากสามารถค้นพบสารที่มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ดีและไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงกับผู้ป่วย ก็สามารถที่จะนำสารต้นแบบดังกล่าวไปพัฒนาต่อยอดเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งช่องปากได้ต่อไป

จากการศึกษาวิจัยทางด้านมะเร็งตั้งแต่ระดับปริญญาเอกจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา มีความเชี่ยวชาญด้านชีววิทยาของมะเร็ง และการทดสอบที่เกี่ยวข้องทางอณูชีววิทยาของมะเร็ง โดยการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพจากพืชและสมุนไพรในการต้านมะเร็งและการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็ง รวมทั้งกลไกการยับยั้งเซลล์มะเร็ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา ได้เล่าให้ฟังถึงความสำเร็จและความภาคภูมิใจว่า ได้สร้างและพัฒนาโมเดลของเซลล์มะเร็งที่จะใช้ในการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพ รวมถึงการพัฒนาเทคนิคและการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพและการทดสอบทางด้านอณูชีววิทยาของมะเร็ง เช่น การทดสอบฤทธิ์ต้านมะเร็ง การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบ การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การศึกษาวัฏจักรชีวิตของเซลล์ การทดสอบการตายของเซลล์มะเร็งแบบอะพอพโทซิส และการเกิดออโตฟาจีในเซลล์มะเร็ง รวมถึงเทคนิคและการทดสอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้นำความรู้เหล่านี้มาใช้ในการสอนนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา

“จะพยายามค้นหาสารต้นแบบจากพืชและสมุนไพร รวมถึงการศึกษากลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อจะได้นำไปพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งหรือยาต้านการอักเสบได้จริงในอนาคต” เป็นเป้าหมายในอนาคตที่ตั้งไว้ในฐานะนักวิชาการ/วิจัย ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา จุ้งลก อาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ประวัติและผลงาน


สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง