Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ไพรวัลย์ เกิดทองมี : ใช้เวลาว่างจากงานประจำพัฒนาความรู้ด้านวิชาการ

01/04/2557

7501

ไพรวัลย์ เกิดทองมี นักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งมั่นพัฒนาความรู้ทางด้านวิชาการและงานวิจัย โดยใช้เวลาว่างจากงานประจำไปเป็นผู้ช่วยวิจัยให้กับคณาจารย์สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ เพื่อวิจัยเชิงพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ และสามารถใช้งานได้จริง

ไพรวัลย์ เกิดทองมี เป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช และเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ (มหาวิทยาลัยทักษิณในปัจจุบัน) จบการศึกษาระดับปริญญาตรี การศึกษาบัณฑิต (วิทยาศาสตร์ – ฟิสิกส์) และจบการศึกษาระดับ ปริญญาโท สาขาฟิสิกส์ จาก ม.วลัยลักษณ์

ไพรวัลย์ได้เข้าทำงานในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยอยู่ในระยะเตรียมการเพื่อเปิดรับนักศึกษาเป็นปีแรก โดยไพรวัลย์ได้เข้าไปมีบทบาทในการจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเรียนการสอนในสาขาวิชาฟิสิกส์ เช่น ผลิตชุดทดลองสำหรับการเรียนการสอน วิชาปฏิบัติการฟิสิกส์ 1 เรื่อง การกำทอนในท่ออากาศ 8 ชุด และเรื่องการให้ความร้อนด้วยคลื่นไมโครเวฟ

จากการที่ได้มาทำงานที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทำให้ได้มีโอกาสพบกับคณาจารย์ นักวิจัย ที่มีความรู้ความสามารถมากมายในวงการวิชาการทางฟิสิกส์ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความรู้ทั้งด้านวิชาการและงานวิจัย โดยเอาเวลาว่างจากการทำงานประจำไปเป็นผู้ช่วยวิจัยให้กับคณาจารย์สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ เพื่อวิจัยเชิงพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ และสามารถใช้งานได้จริง มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ เริ่มต้นจากการนำงานวิจัยที่มีอยู่ มาต่อยอดเป็นนวัตกรรม โดยประยุกต์เทคโนโลยีไมโครเวฟเพื่อให้ความร้อนและอบแห้ง เช่น การนำคลื่นไมโครเวฟไปให้ความร้อนกับการ Curing Polymer ,Pre-heating Melamine หรืออบแห้งลูกเดือย ข้าวพอง สมุนไพร ชา เป็นต้น

ไพรวัลย์ ได้เล่าให้ฟังว่า จากการสะสมประสบการณ์การทำงานมามากกว่า 15 ปี ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนานวัตกรรมด้านการให้ความร้อนและการอบแห้งด้วยคลื่นไมโครเวฟ จนมีภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ มาติดต่อร่วมวิจัยจำนวนมาก เช่น พัฒนานวัตกรรมเครื่องอบแห้งปุ๋ยด้วยคลื่นไมโครเวฟ ถ่ายทอดไปยังศูนย์นาโนเทคโนโลยี สวทช. พัฒนาระบบอบแห้งแบบต่อเนื่องสำหรับชาเขียว โครงการหลวง ม.เชียงใหม่ โดยรับผิดชอบในโครงการด้านการสร้างเครื่องอบแห้งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พัฒนานวัตกรรมเครื่องระเหยสารด้วยคลื่นไมโครเวฟ ห้องปฏิบัติการกลางคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครื่องทำลายมอดในไม้ยาง บริษัทแปลนครีเอชั่น จังหวัดตรัง และเครื่องอบแห้งลูกเดือย บริษัทวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นต้น

ผลจากความพยายามและความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ทำให้ ไพรวัลย์ ได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ เช่น รางวัล STI Thailand Award 2012 จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 นวัตกรรมข้าว และรางวัลชนะเลิศ อันดับ 2 การวิจัยเชิงบูรณาการ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2555 และรางวัลประกาศเกียรติคุณในฐานะผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงการ “วิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ” จากวุฒิสภา และได้รับการคัดเลือกให้รับโล่เชิดชูเกียรติ 1 ใน 4 คน ผู้ทำชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย ประจำปี 2557 เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้รับอนุสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ “เครื่องให้ความร้อนเมลามีนด้วยเครื่องไมโครเวฟ” และ “เครื่องอบแห้งลูกเดือยสำหรับแปรรูปด้วยคลื่นไมโครเวฟ” อีกด้วย

สำหรับเป้าหมายที่ตั้งไว้ในอนาคต ไพรวัลย์ บอกว่า “ตั้งใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการอบแห้งโดยใช้คลื่นไมโครเวฟซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับเกษตรกร เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ ขณะเดียวกันเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจทางภาคใต้ คือ ข้าว มัน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน”

“สามารถนำเทคโนโลยีไมโครเวฟ ไปใช้งานในด้านการเกษตรได้จริง สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และแก้ไขปัญหาการให้ความร้อนกับวัสดุ ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย จนสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ในระยะยาว” เป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจของไพรวัลย์ เกิดทองมี นักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์ เรียบเรียง