Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

“เจ้าปัญญา” สื่อสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

21/04/2557

6054

“เจ้าปัญญา” นกฮูกน้อยภายใต้การสร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อเป็นสื่อสัญลักษณ์เชิงภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนความขยัน อดทนสู้งาน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ตามอัตลักษณ์ของบัณฑิตมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ว่า “บัณฑิตมีความรู้คู่การปฏิบัติ อุตสาหะสู้งาน เก่งด้านศิลปศาสตร์และเทคโนโลยี มีคุณธรรม : Walailak graduates have practical intelligence, adversary quotient, liberal arts perspective and technology competence, all integrated with high moral."

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาและสื่อสารองค์กร เล่าถึงที่มาก่อนที่จะมาเป็นนกฮูก “น้องเจ้าปัญญา” ว่า จุดเริ่มต้นมาจากความคิดที่จะสื่อสารภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ผ่านสื่อสัญลักษณ์สักอย่าง แต่ก็มีประเด็นให้คิดอยู่ 2 เรื่อง คือ การนำต้นประดู่ ซึ่งเป็นต้นไม้ของมหาวิทยาลัยมาเป็นสัญลักษณ์ แต่โดยลักษณะโครงสร้างของดอกประดู่ที่ค่อนข้างเล็กและละเอียดอ่อน คงจะนำมาสื่อเพื่อให้เห็นภาพลักษณ์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนนกกระฮังซึ่งมหาวิทยาลัยใช้เป็นสัตว์นำโชคในครั้งที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยและการแข่งขันกีฬาบุคลากร ที่คนส่วนมากรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่จะหาเรื่องราวเชื่อมโยงกับภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยได้อย่างไร ไม่ใช่เรื่องง่าย เผอิญมาได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับนกฮูก ซึ่งเป็นนกที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงชื่นชอบเป็นพิเศษ จึงจุดประกายความคิดที่จะนำนกฮูกมาสื่อสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ประกอบกับได้มีโอกาสเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จาก ศาสตราภิชานไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ กรรมการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กูรูด้านการตลาดชั้นนำของเมืองไทย ในที่สุดสัญลักษณ์ของนกฮูกก็ก่อเกิดขึ้น ในชื่อที่ว่า N'Woo Woo (น้อง วู วู) ตามชื่อย่อภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัย พร้อมกับข้อความที่ว่า "Join Wu to become Who's Who" ที่มีความหมายว่ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อพัฒนาตนให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถตามศักยภาพของแต่ละบุคคล"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ เล่าต่อว่า N'Woo Woo ถูกออกแบบ และเผยแพร่สู่ประชาคมวลัยลักษณ์ด้วยกลยุทธ์ Question Marketing โดยจัดทำเป็นป้ายโฆษณาติดที่ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดคำถามจากผู้พบเห็นป้ายนี้ จากนั้นสัญลักษณ์ N'Woo Woo ก็นำไปจัดทำเป็นแบนเนอร์ประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย พร้อมความหมายที่ต้องการสื่อให้ทุกคนทราบ ขณะเดียวกัน N'Woo Woo ก็ได้ทำหน้าที่ส่งความสุขในเทศกาลปีใหม่ 2557 ด้วยการไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสมุดบันทึกและสมุดโน้ตที่นำไปมอบให้กับบุคคลและองค์กรต่างๆ พร้อมกับนำไปสร้างสรรค์ลงบนแก้วน้ำมอบให้แก่แขกผู้มีเกียรติที่ไปร่วมงานครบรอบ 22 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยและร่วมแสดงความยินดีแก่ว่าที่บัณฑิตรุ่นที่ 13 รวมทั้งเสื้อ T-shirt ที่ประชาคมวลัยลักษณ์ ให้ความสนใจซื้อใส่กันด้วย

การรณรงค์ N'Woo Woo ให้เป็นสื่อสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ ยังได้นำ N'Woo Woo ไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในสาขาการตลาด เพื่อให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ได้มีโอกาสเรียนรู้และทำงานเปรียบเสมือนทีมงานการตลาดในสถานการณ์จริง โดยนักศึกษาต้องทำให้ N'Woo Woo เข้าไปอยู่ในใจของกลุ่มเป้าหมายภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วม (Value Co-Creation) ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมให้สมาชิก Facebook ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ร่วมสนุกในการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ ในรอบแรกกรรมการได้เลือกชื่อที่มีผู้ส่งเข้ามา จำนวน 2 ชื่อ คือ น้องขวัญใจ และน้องเจ้าปัญญา เพื่อให้สมาชิกร่วมโหวต โดยชื่อที่ได้รับได้รับความชื่นชอบและกด Like มากที่สุด คือ "น้องเจ้าปัญญา" จากนั้น "น้องเจ้าปัญญา" ก็ได้ถูกนำมาสื่อสารภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งจัดทำ "น้องเจ้าปัญญา" ในอิริยาบถและการสื่อความหมายที่แตกต่างกัน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการสื่อสารอีกด้วย โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการจดลิขสิทธิ์นกฮูก "น้องเจ้าปัญญา"

“ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการนำนกฮูก "น้องเจ้าปัญญา" มาเป็นสื่อสัญลักษณ์ของการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง และยังคงมีโครงการรณรงค์เกี่ยวกับ "น้องเจ้าปัญญา" ออกมาอย่างต่อเนื่อง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวในตอนท้าย

สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง