Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์รับมอบ eApplication สำหรับการติดตามข้อมูลและพฤติกรรมของกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานจากบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน)

02/05/2557

2097

รองศาสตราจารย์ ดร.ก้าน จันทร์พรหมมา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคม เป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รับมอบโปรแกรมแบบสอบถามทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการติดตามข้อมูลและพฤติกรรมของกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน จากคุณศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC และคุณชิมมี่ โทมัส ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ เพื่อใช้ในโครงการโปรแกรมการป้องกันโรคเบาหวานในชุมชน (Community-based Diabetes Prevention Program in Thai Population) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ

โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลา ตันตโยทัย คณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ Principle Investigator ศาสตราจารย์ นพ.วิชัย เอกพลากร หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล Co-Principle Investigator พร้อมด้วยทีมทำงานใน 8 จังหวัด ร่วมเป็นเกียรติ ทั้งนี้โครงการโปรแกรมการป้องกันโรคเบาหวานในชุมชน เป็นโครงการที่มีระยะเวลาการดำเนินการ 3 ปี โดยได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ BRIDGES ของ International Diabetes Federation (IDF) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และมูลนิธิเพื่อพัฒนาการบริบาลผู้ป่วยเบาหวาน

บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้คำปรึกษา พัฒนา และวางระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนระดับแนวหน้าของไทย ได้พัฒนาโปรแกรมแบบสอบถามทางอิเล็กทรอนิกส์นี้ภายใต้โครงการ Community-based Mobile Health Point ซึ่งมีเป้าหมายช่วยให้การทำงานในโครงการมีความน่าสนใจ สะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย และยังช่วยให้กลุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานสามารถรับรู้ระดับความเสี่ยงและความเปลี่ยนแปลงของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีต่อไปในอนาคต นอกจากนั้นแล้วยังจะมีการพัฒนา Application เพื่อช่วยรวบรวมอาสาสมัครและผู้สนับสนุนกิจกรรมของโครงการ ซึ่งจะทำให้โครงการสามารถดำเนินงานต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบาย Social Enterprise ของบริษัทฯ ต่อไป ในวันดังกล่าวทีมงานของบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) และบริษัทพรอมท์นาว จำกัด ได้สอนวิธีการใช้งานโปรแกรมแบบสอบถามทางอิเล็กทรอนิกส์ข้างต้นให้กับทีมทำงานของโครงการด้วย