Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

แผ่นไม้แซนวิชน้ำหนักเบาโดยใช้ไม้ปาล์มน้ำมันเป็นไส้ ผลงานวิจัยเด่นโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก) ประจำปี 2557 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว)

09/06/2557

5967

งานวิจัยเรื่อง แผ่นไม้แซนวิชน้ำหนักเบาโดยใช้ไม้ปาล์มน้ำมันเป็นไส้ ของนักศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ ได้รับคัดเลือกให้เป็นผลงานวิจัยเด่นโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก) ประจำปี 2557 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว)

ต้นปาล์มน้ำมันเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เมื่อต้นปาล์มน้ำมันมีอายุประมาณ 25-30 ปี จะให้ผลผลิตน้ำมันปาล์มที่ลดลง เกษตรกรจึงทำการตัดโค่นต้นปาล์มน้ำมันเพื่อปลูกใหม่ ทำให้มีเศษชีวมวล โดยเฉพาะลำต้นของต้นปาล์มน้ำมันที่ยังไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ถูกกำจัดโดยการเผาหรืออัดสารเคมีเข้าไปในต้นปาล์มยืนต้น แล้วทิ้งให้ยืนต้นตายในสวนเป็นปริมาณมาก อย่างไรก็ตามปาล์มน้ำมันเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ลำต้นมีเซลล์ไฟเบอร์แข็งในกลุ่มเซลล์ท่อลำเลียงฝังตัวอยู่ท่ามกลางเซลล์พาเรนไคมาที่อ่อน ลำต้นปาล์มน้ำมันมีความหนาแน่นต่ำ จึงมีความแข็งแรงต่ำและมีความชื้นสูงเมื่อเทียบกับไม้อื่น ๆ เช่น ไม้ยางพารา ทำให้การนำลำต้นปาล์มน้ำมันไปใช้ประโยชน์ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร


รูปที่ 1 ก) การตัดโค่นต้นปาล์มน้ำมันในสวน ข) ไม้ปาล์มน้ำมันหลังการอบแห้ง ค) ผลิตภัณฑ์ไม้แซนวิชน้ำหนักเบา

นักวิจัยต้องการใช้ประโยชน์ไม้ปาล์มน้ำมันโดยอาศัยจุดเด่นของไม้ที่มีความหนาแน่นต่ำ จึงได้นำมาใช้เป็นไส้ของแผ่นไม้แซนวิชน้ำหนักเบา ด้วยกระบวนการอบที่พัฒนาขึ้นจนสามารถใช้ประโยชน์ลำต้นปาล์มน้ำมันจนถึงความสูงประมาณ 2.5 เมตรจากพื้นดิน สมบัติของแผ่นไม้แซนวิชที่ได้โดยรวมเป็นไปตามมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ไม้ประกอบของอเมริกาและยุโรป โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์นี้คือมีความแกร่งและความแข็งแรงต่อน้ำหนักสูง มีค่าการนำความร้อนต่ำ เหมาะสำหรับการใช้งานเป็นเฟอร์นิเจอร์น้ำหนักเบา และแผ่นผนังฉนวนความร้อน ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในยุโรป นอกจากนี้ยังพบว่าการวางเสี้ยนไม้ปาล์มน้ำมันในแนวตั้ง สามารถเพิ่มความเหนียวให้กับแผ่นไม้แซนวิชน้ำหนักเบาได้อีกประมาณ 4 เท่า เมื่อเทียบกับการวางเสี้ยนไม้ปาล์มน้ำมันในแนวนอน ในงานวิจัยนี้นักวิจัยได้พัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สำหรับใช้ในการออกแบบแผ่นไม้แซนวิชน้ำหนักเบาให้ได้สมบัติต่างๆข้างต้นตามต้องการ โดยกำลังพัฒนาเป็นโปรแกรมออกแบบสำเร็จรูปเพื่อให้ง่ายกับการใช้งานในอุตสาหกรรม
นอกจากการวิจัยในห้องปฏิบัติการแล้ว นักวิจัยยังได้พัฒนากระบวนการผลิตแผ่นไม้แซนวิชน้ำหนักเบาต้นแบบขนาดอุตสาหกรรม โดยใช้เครื่องจักรสำหรับการผลิตแผ่นไม้อัดที่บริษัท พังงาทิมเบอร์ อินดัสทรีส์ จำกัด อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา พร้อมทั้งนำแผ่นไม้ที่ได้ดังกล่าวไปทดสอบสมบัติและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์น้ำหนักเบาต้นแบบ

รูปที่ 2 ก) การผลิตแผ่นไม้แซนวิชน้ำหนักเบาที่บริษัท พังงาทิมเบอร์ อินดัสทรีส์ จำกัด จังหวัดพังงา และ ข) ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์น้ำหนักเบาต้นแบบจากแผ่นไม้แซนวิชน้ำหนักเบาที่ผลิตได้

ทั้งนี้โครงการวิจัยเรื่อง แผ่นไม้แซนวิชน้ำหนักเบาโดยใช้ไม้ปาล์มน้ำมันเป็นไส้ ได้รับทุนสนับสนุนจาก โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก-อุตสาหกรรม) รุ่นที่ 12 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) ร่วมกับ บริษัท พังงา ทิมเบอร์ อินดัสทรีส์ จำกัด อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา โดยมี นายสุธน ศรีวะโร นักศึกษาระดับปริญญาเอก และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก หลักสูตรวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ เป็นผู้รับทุน โดยได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสองผลงานวิจัยเด่นโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก) ประจำปี 2557 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว)

นอกจากนี้ นายสุธน  ศรีวะโร ยังได้รับรางวัล การนำเสนอผลงานปากเปล่าดีเด่น (Outstanding oral presentation) จากการนำเสนอผลงานดังกล่าวในงานประชุมวิชาการ โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ครั้งที่ 15 (RGJ-Ph.D. Congress XV) ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมจอมเทียน ปาล์มบีช โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 28-30 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมาด้วย

ข่าวประกาศในแหล่งข่าวอื่นๆ

  1. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) http://www.trf.or.th/index.php
  2. หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจhttp://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/science/20140601/585721/ม.วลัยวลัยลักษณ์ผลิตแผ่นไม้น้ำหนักเบา.html