Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์จัดประชุมวลัยลักษณ์วิจัย ครั้งที่ 6 ชูแนวคิด Research for Green Living

อัพเดท : 01/08/2557

3170

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.)จัดประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 6 ชูแนวคิด Research for Green Living ให้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นักวิชาการจาก 46 สถาบันทั่วประเทศร่วมนำเสนอผลงาน ด้านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มวล.ย้ำวิจัยเพื่อสร้างความรู้ใหม่และวิจัยเชิงพื้นที่ต้องทำคู่ขนานกันไป พร้อมแนะกระแสงานวิจัยในอนาคต สถาบันอุดมศึกษาจะมุ่งไปทาง University Community Engagement มากขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.ก้าน จันทร์พรหมมา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวในพิธีเปิดการประชุมวิชาการวลัยลักษณ์วิจัย ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา ว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้จัดให้มีการประชุมวลัยลักษณ์วิจัยมาอย่างต่อเนื่องครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 6 แล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของนักวิจัยและนักวิชาการทั้งภายในมหาวิทยาลัยและทั่วทั้งประเทศได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน มีโอกาสพบปะกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดเครือข่ายวิจัยร่วมกันต่อไปในอนาคต

โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การวิจัยเพื่อการสร้างองค์ความรู้นั้นเป็นนโยบายหลักที่สำคัญ ขณะเดียวกันการสร้างโจทย์วิจัยที่ตอบสนองต่อความต้องการของพื้นที่ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ตั้งอยู่ในภูมิภาค และกำหนดวิสัยทัศน์ไว้อย่างชัดเจนในการเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นหลักในถิ่น เป็นเลิศสู่สากล ดังนั้นการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ และการวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการของพื้นที่ต้องทำคู่ขนานกันไป ทั้งนี้ในปัจจุบันการบริการวิชาการจากผลงานวิจัยสร้างองค์ความรู้ สถาบันอุดมศึกษาจะเป็นผู้ให้ ชุมชนเป็นผู้รับ แต่ในอนาคตต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ในลักษณะที่ชุมชน ภาครัฐ เอกชนมีการแลกเปลี่ยนได้รับผลประโยชน์ร่วมกันที่เรียกว่า University Community Engagement ซึ่งเชื่อว่ากระแสของสถาบันอุดมศึกษาจะมุ่งเน้นไปในทางนี้มากขึ้น และในส่วนของ ม.วลัยลักษณ์พยายามทำให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาร่วมกับสำนักวิชา หน่วยประสานงานสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.ภูมิภาค ภาคใต้) ชมรมผู้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล ดำเนินการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ "วลัยลักษณ์วิจัย" ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 3-4 กรกฎาคม 2557 ภายใต้แนวคิด Research for Green Living ให้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิบรรยายพิเศษ ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรยายเรื่อง Upcycling : a Move toward Green Society พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย บรรยายพิเศษ หัวข้อ “สอนอย่างไรให้เป็นผู้เป็นคน” ศาสตราจารย์ ดร.อรอนงค์ นัยวิกุล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการแปรรูปข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว รองศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์พืชในยุคต่อไปกับอนาคตข้าวไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริพร ภักดีผาสุข วิทยากรจากชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล บรรยายพิเศษในกลุ่มมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ เรื่อง "ทิศทางการศึกษาวิจัยคติชนไทย"

นอกจากนี้ยังมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่มีผลงานโดยเด่นและสอดคล้องกับแนวคิดของการประชุมในครั้งนี้ร่วมบรรยายรับเชิญ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วาริท เจาะจิตต์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นคร กกแก้ว

ในส่วนของการนำเสนอผลงานวิจัย การประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” ในครั้งนี้ มีบทความที่ร่วมนำเสนอจำนวนทั้งสิ้น 254 บทความ แบ่งเป็นภาคบรรยาย จำนวน 150 บทความ และภาคโปสเตอร์ จำนวน 104 บทความ จากสถาบันการศึกษาต่างๆทั่วประเทศ รวม 46 สถาบัน ครอบคลุมใน 8 กลุ่มสาขาวิชา และ 3 หัวข้อพิเศษ ประกอบด้วย หัวข้อพิเศษ การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยส่วนส่งเสริมวิชาการ The 1st International Symposium on Sustainable Agriculture and Agro-Industry โดยสำนวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และ Special Session on Asian Studies โดยสำนักวิชาศิลปศาสตร์

อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมจุดประกายความคิดสร้างธุรกิจงานวิจัย(R2M) การเสวนาชุมชนคนวิจัย การจัดนิทรรศการ การออกร้านแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชนอันสืบเนื่องมาจากงานวิจัย การนำเสนอผลงานวิจัย โดยมีหน่วยงานที่ร่วมจัดในครั้งนี้ได้แก่ หน่วยประสานงานสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.ภูมิภาค ภาคใต้) โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ศูนย์บริการการศึกษา หน่วยวิจัยเทคโนโลยีโมเลกุล สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ หน่วยวิจัยชีวเวชศาสตร์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรม โดย สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ เป็นต้น

 

ภาพโดย : นายธีรพงศ์ หนูปลอด, นางสาวนันทพร ขันธศุภหิรัญ
ข่าวโดย : นายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์