Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

การประชุมวลัยลักษณ์วิจัย ครั้งที่ 6 ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต นำเสนอ Upcycling กระบวนการสำคัญที่ส่งเสริม Green Society

อัพเดท : 08/07/2557

3015

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการฝ่ายการออกแบบของ OSISU บรรยายพิเศษเรื่อง Upcycling : a Move toward Green Society ในการประชุมวิชาการระดับชาติ วลัยลักษณ์วิจัย ครั้งที่ 6 ภายใต้แนวคิด Research for Green Living เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ ได้พูดถึง Green Society ว่า เป็นสังคมที่พัฒนาอย่างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วน Upcycling เป็นการนำของเหลือใช้กลับมาพัฒนาให้ดีขึ้น เพื่อใช้งานและเพิ่มมูลค่า ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สร้างรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจให้ยั่งยืน ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ในโลกปัจจุบันที่ยังมีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนอย่างต่อเนื่อง อนาคตจะเป็นอย่างไร ถ้าเรายังคงสร้างไปเรื่อยๆ แม้ว่าการก่อสร้างนั้นจะถูกกฎหมาย แต่สภาพแวดล้อมจะเป็นเช่นไร ที่สำคัญจะเป็น Green Society ได้หรือ ดังนั้น Upcycling จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ส่งเสริม Green Society

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ บอกเล่าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับการก่อสร้างว่า ในการก่อสร้างจะใช้วัสดุประมาณ 3 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 40% ของวัสดุที่ใช้ทั่วโลก โดยมีวัสดุเหลือใช้ที่เป็นขยะ 1 ใน 3 (ประมาณ 30-40%) ในประเทศอังกฤษมีวัสดุที่เหลือทิ้งจากการก่อสร้างในแต่ละปี 100 ล้านตัน ในประเทศสหรัฐอมริกา 124 ล้านตัน ถ้าเอามาสร้างเป็นกำแพงจะได้ระยะทางถึง 8000 กิโลเมตร ยาวมากกว่ากำแพงเมืองจีนซึ่งยาวเพียง 6400 กิโลเมตรเท่านั้น นั่นหมายความว่า จะสร้างกำแพงเมืองจีนได้ทุกปีและยังมีเศษวัสดุเหลืออยู่อีก หรือถ้าจะใช้สร้าง World Trade Tower ในนิวยอร์ค จะได้ถึง 480 ตึกทีเดียว นั่นคือ เหตุผลที่ทำไมเราต้องพยายามนำเศษวัสดุกลับมาใช้อีก โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่ได้รางวัล Silver Prize winning entry from Holcim Awards for sustainable construction ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ 10 ไร่ ในพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพ

จากสถิติการใช้พื้นที่สีเขียวต่อคน พบว่า 23 เมืองในอาเซียน มีพื้นที่สีเขียว 39 ตารางเมตรต่อคน นิวยอร์ค 23.1 ตารางเมตร ปารีส 11.5 ตารางเมตร กรุงเทพ 3 ตารางเมตร โดย WHO กำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ จึงคิดว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้พื้นที่สีเขียว 10 ไร่ นี้ ได้ผลประโยชน์สูงสุด ภายใต้แนวคิดที่ว่า ต้องได้เงิน ยังคงพื้นที่สีเขียวไว้ ขณะเดียวกัน ต้องมีคนมาใช้บริการ เพื่อให้มีรายได้เข้ามา ทำให้เกิดโครงการ Urban Farm ซึ่งเป็นส่วนของ Regenerative Function โดยทำเป็นสวนผลไม้และ nursery ส่วน Urban Barn เป็น Commercial Function โดยทำเป็นอาหารสุขภาพ ร้านค้าและบริการต่างๆ

เมื่อแนวคิดนี้ได้รับความเห็นชอบแล้ว จึงได้แบ่งพื้นที่เป็น 3 โซน ด้านหน้าทำเป็นสวนดอกไม้และ nursery เพื่อดึงคนให้เข้ามาในพื้นที่ ตรงกลางเป็นสวนผลไม้ และด้านหลังเป็นแปลงผัก เนื่องจากที่ดินอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้ทำระบบน้ำเพื่อให้เหมาะสมกับผักผลไม้ โดยใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะเดียวกัน ก็เลือกผักผลไม้ที่จะให้ผลผลิตต่อเนื่องและมีสีสันสวยงาม เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าและสร้างรายได้ตลอดปี ในส่วนของเขตการค้า ได้ให้ชาวสวนบริเวณรายรอบเข้ามาขายพืชผลทางการเกษตร ทำร้านอาหารโดยเอาผักผลไม้ที่ปลูกมาปรุงอาหาร สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าในด้านความปลอดภัย เป็นต้น

วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการนี้เป็นการนำวัสดุเหลือใช้จากโรงงานผลิตวัสดุมาดัดแปลง เช่น ไม้ อลูมิเนียม กระจก เศษเหล็ก ซึ่งมีเหลือมากกว่า 40% มาใช้ โดยใช้หลักการ 3Rs คือ Reduce Reuse และ Recycle เพื่อนำวัสดุมาใช้ให้คุ้มค่าที่สุด โดยดัดแปลงเป็นอิฐมวลเบา กระเบื้องแก้ว หินฟองน้ำ เป็นต้น จากนั้น นำวัสดุที่ได้มาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ม้านั่ง ลูกบิดประตู ชั้นวางของ กระจกสี กระเบื้องตกแต่ง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้โครงการนี้ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ ได้รับรางวัล Silver Prize winning entry from Holcim Awards for sustainable construction จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์

นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ ยังบอกเล่าถึงการนำวัสดุเหลือใช้ต่างๆ มาดัดแปลงใช้ประโยชน์ เช่น นำกากกาแฟมาทำเป็นหินเทียม กระเบื้อง โมเสค กระเบื้องปูพื้น เพื่อทำเป็นเก้าอี้ ม้านั่ง ฯลฯ นำถุงขนมกรุบกรอบที่เป็นฟอยล์มาทำเป็นที่บุผนังเพื่อกันน้ำ กันความร้อน หรือการนำด้าย เศษผ้า ที่ถูกวางทิ้งไว้ตามโรงงาน มาทำเป็นโคมไฟหรือผ้าม่าน พร้อมยกตัวอย่างตึกที่หายใจได้ อากาศถ่ายเทสะดวก และมีชีวิตชีวา เช่น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และตึกของ SCG และห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ปรับปรุงใหม่เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ อินทรชูโต สรุปในตอนท้ายว่า Upcycling เป็นการใช้สามัญสำนึกว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ ไม่ใช่เรื่องยากอะไร สามารถเข้าใจได้ง่าย ใครๆ ก็ทำได้ ดังนั้น ขอให้ทุกคนใช้สามัญสำนึกอย่างจริงจังในการทำ Upcycling เพื่อให้เกิด Green Society


สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์ ข่าว
นันทพร ขันธศุภหิรัญ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ภาพ