Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วาริท เจาะจิตต์ บรรยายเรื่อง Green Living: How Green is Green?

อัพเดท : 10/07/2557

4000

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วาริท เจาะจิตต์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมบรรยายพิเศษ หัวเรื่อง Green Living: How Green is Green? ในการประชุมวิชาการระดับชาติ วลัยลักษณ์วิจัย ครั้งที่ 6 ภายใต้แนวคิด Research for Green Living เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วาริท เจาะจิตต์ ได้บรรยายโดยเริ่มจากคำถามที่ว่า ส่วนใหญ่เมื่อคนมองการใช้ชีวิตสีเขียว หรือ รักษาสิ่งแวดล้อมก็มองไปถึงไลฟ์สไตล์ อาทิเช่น ลอยกระทงจากต้นกล้วย/กระทงขนมปัง ใช้กระดาษรีไซเคิล ใช้ถุงผ้า ใช้น้ำมันไบโอดีเซล/แก๊สโซฮอลล์ ฯลฯ ซึ่งหากมองแค่มิติเดียวหรือจุดเดียวอาจจะเป็นพฤติกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม แต่หากมองเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ครบทั้งวัฎจักรชีวิตผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ใช่อย่างที่มุ่งหวังให้เป็นเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมก็ได้ จึงอยากให้ลองขยายมุมมองในเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือ การใช้ชีวิตแบบ Green Living แบบมี ที่มา...ที่เป็นอยู่...ที่ไป ซึ่งสหประชาชาติก็ให้คำจำกัดความ เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบมีที่มา ที่ไปเช่นกัน ซึ่งได้แก่ รูปแบบของการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนในปัจจุบัน โดยไม่ทำให้คนรุ่นต่อไปในอนาคตต้องยอมลดทอนความสามารถในการที่จะตอบสนองความต้องการของตัวเอง

ส่วนการประเมินว่าการใช้ชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแค่ไหน หรือ เขียวแค่ไหน?นั้น (How Green is Green) สามารถบ่งชี้เบื้องต้นจากฉลากสิ่งแวดล้อม (Environmental Label) เช่น สินค้าฉลากเขียว (Green Label) อย่างไรก็ตามสินค้าฉลากเขียวไม่ได้บ่งชี้เป็นปริมาณที่ชี้วัดเป็นตัวเลขได้ นักสิ่งแวดล้อมจึงได้พัฒนาตัวชี้วัดที่เรียกว่า รอยเท้าทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Footprint) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าแต่ละก้าวเดินของมนุษย์เรา หรือ แต่ละขั้นตอนของผลิตภัณฑ์ต่างๆสร้างภาระให้สิ่งแวดล้อมมากหรือน้อยเท่าใด รอยเท้าทางสิ่งแวดล้อมชนิดแรกได้แก่ รอยเท้าทางนิเวศ (Ecological Footprint) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบระหว่างความต้องการใช้ทรัพยากร การปลดปล่อยของเสียของมนุษย์ต่อความสามารถของธรรมชาติที่มีอยู่ และความสามารถในการรองรับของเสียจากการกระทำของมนุษย์ หน่วยของรอยเท้าทางนิเวศ (หน่วยของพื้นที่ต่อคน) คือหน่วยวัดพื้นที่ที่แต่ละคนต้องใช้ต่อปี คือ เฮคตาร์ต่อคน เป็นการวัดว่า เรา “ใช้” ทรัพยากรและ “ก่อ” ของเสียมากเท่าไร เมื่อเทียบกับที่ธรรมชาติสามารถ “สร้าง” ทรัพยากรขึ้นมาใหม่/และ “ดูดซับ” ของเสีย โดยทุกวันนี้มนุษย์ใช้ทรัพยากร (รอยเท้านิเวศ) ไปเท่ากับพื้นที่โลก 1 ใบครึ่ง

ส่วนรอยเท้าสิ่งแวดล้อมที่มีการให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carabon Footprint) หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Label) เป็นฉลากที่แสดงให้เห็นว่า สินค้า/ผลิตภัณฑ์นั้นปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปเท่าไรในการผลิต เช่น อาหาร เสื้อผ้า เป็นต้น ส่วนฉลากลดคาร์บอน (Carbon Reduction Label) ที่แสดงให้เห็นว่า สินค้า/ผลิตภัณฑ์ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้เท่าไรเมื่อเทียบกับการผลิตก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ให้มีการจัดทำ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint of Organisation) เช่น ของมหาวิทยาลัย โรงเรียน โรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล อบจ. อบต.) โดยดูจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยใน 1 ปีงบประมาณ เพื่อประเมินถึงกิจกรรมต่างๆในองค์กรที่มีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผลที่ได้สามารถนำมาพัฒนาเป็นแผนและนโยบายในเรื่องสิ่งแวดล้อมได้

รอยเท้าทางสิ่งแวดล้อมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในอนาคตอันใกล้ได้แค่ วอเตอร์ฟุตพริ้นท์ (Water Footprint) ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับ Carbon Footprint คือพิจารณาทั้งวัฏจักรชีวิตว่า กว่าจะได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ กว่าจะถึงผู้บริโภค และภายหลังกำจัดทิ้ง มีการใช้น้ำไปเป็นปริมาณเท่าไร มีน้ำเสียปริมาณเท่าไร เช่น วอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของ กาแฟ 1 แก้ว เท่ากับน้ำ 140 ลิตร เป็นการมองการใช้น้ำตั้งแต่ปลูกกาแฟ แปรรูปกาแฟ ขนส่งกาแฟ จนถึงมาเป็นกาแฟ 1 แก้วเป็นต้น

“แม้ขณะนี้ Green Information/Green Label ยังเป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่อีกไม่นานจะกลายเป็นการบังคับทางอ้อมและเป็นกฎหมายในที่สุด ประเทศไทยจึงควรมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องกฎระเบียบเหล่านี้ไว้ด้วย แต่ในระดับปัจเจกบุคคลนั้น ไม่จำเป็นเสมอไปว่า Green Label ทั้งหลายจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการก้าวเข้าสู่ Green Living คือ สามัญสำนึกที่ดี กลไกที่ส่งเสริมเกื้อหนุน การดำเนินการที่ต่อเนื่อง และกฎหมายที่บังคับใช้ได้ โดยเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ก่อนคือตัวเรา ครอบครัว และชุมชน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วาริท เจาะจิตต์ กล่าวสรุปในตอนท้าย

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์ ข่าว
นันทพร ขันธศุภหิรัญ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ภาพ