Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ บรรยายเรื่อง “สอนอย่างไรให้เป็นผู้เป็นคน”

อัพเดท : 18/07/2557

2021

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิล ธมฺมสากิโย) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย บรรยายเรื่อง “สอนอย่างไรให้เป็นผู้เป็นคน” ในการประชุมวิชาการการเรียนรู้เชิงรุก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 4B อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิล ธมฺมสากิโย) ได้ยกคำสอนของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกที่ว่า “คนพยายามหาความรู้ทางโลกมาบรรจุไว้ที่สมองให้ทันโลก ไม่ยอมเอาไปไว้ที่กาย วาจา และดวงใจ ฉะนั้น ต้องพยายามเอาความรู้ทางธรรมจรรยาจากสมองไปบรรจุไว้ที่กาย วาจา และดวงใจ” และ “มนุษย์นิกรทั้งเด็กและผู้ใหญ่มักรับคำสอนทางธรรมจรรยาไปบรรจุไว้ในสมองกันเสียหมด ไม่นำไปบรรจุไว้ที่ กาย วาจา และดวงใจ เมื่อบรรจุผิดฉะนี้ คำสอนทางธรรมจรรยาก็กลายเป็นคำสอนทางโลกไป” นั่นหมายความว่า เราบรรจุความรู้ไว้ผิดที่ นอกจากนี้หากดูสภาพอุดมศึกษาในปัจจุบัน พบว่า สถาบันอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น แต่ขาดแผนหลัก ขาดทิศทาง ขาดความร่วมมือ ซ้ำซ้อน แย่งชิงนักศึกษาและทรัพยากร วัฒนธรรมขององค์การอุดมศึกษาไทยในระบบมหาวิทยาลัยมีจุดอ่อน ไม่เอื้อต่อการพัฒนาผู้นำทางความคิดและผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญวิธีจัดการศึกษาเป็นแบบอนุรักษ์นิยม

ปัจจัยที่ทำให้รูปแบบการศึกษาเปลี่ยนแปลงไป พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิล ธมฺมสากิโย) บอกว่า เกิดจาก 1) การศึกษาถูกกำหนดโดยสังคม แต่ปัจจุบันการศึกษาถูกครอบงำโดยเศรษฐกิจ 2) การศึกษาเมื่อถูกเศรษฐกิจครอบงำ ระบบก็เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นธุรกิจการศึกษา มีมหาวิทยาลัยเอกชนเกิดขึ้นหลายแห่งและเป็นไปในเชิงการตลาดมากขึ้น 3) ประเทศไทยเน้นให้คุณค่ากับประกาศนียบัตรมากกว่าความรู้ ซึ่งผู้ที่มีความรู้สูงหลายๆคนกลับก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรง ในเรื่องของการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) นั้น แพร่หลายอย่างกว้างขวางประมาณปี พ.ศ. 2533 หมายถึง การเรียนที่เน้นให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับการเรียนการสอน กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดขั้นสูง โดยสิ่งที่ได้จาก Active Learning คือ กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ คิดเป็น สามารถนำความรู้ที่ได้จากห้องเรียนไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ที่สำคัญผู้สอนจำเป็นต้องสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมเข้าไปทุกรายวิชาอย่างไรก็ตาม Active Learning ในเมืองไทยยังเป็นไปในเชิงการทำงานเชิงเดี่ยวมากกว่า ซึ่งต่างกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่นักศึกษาต้องมีการ Interactive กัน ตำราความรู้ไม่ได้อยู่ที่หนังสือต้องศึกษาจริงจากความเป็นจริง

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิล ธมฺมสากิโย) ยังได้พูดถึงจิตทัศน์ (Mindsight) ซึ่งก็คือศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถรับรู้จิตใจของตนและผู้อื่น เปรียบเสมือนเลนส์อันทรงพลังที่จะสามารถทำให้เราเข้าใจชีวิตภายในได้แจ่มแจ้งขึ้น โดยบูรณาการการทำงานของจิต สมองและความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น และในตอนท้ายได้พูดถึงปรัชญาการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า การศึกษาควรตั้งอยู่บนพื้นฐาน 3R คือ Reading การอ่าน Writing การเขียน และ Arithmetic (Reckoning) การคิดเลข อย่างไรก็ตาม ปรัชญาการศึกษาที่ขาดไปและสมควรที่จะเติม คือ 3R อีกชุดหนึ่ง คือ Resilience ความเป็นปกติ Reflection การไตร่ตรองพิจารณา และ Relationship ความสัมพันธ์

สมพร อิสรไกรศีล ข่าว