Location

0 7567 3000

ข่าวการศึกษา

นักศึกษาญี่ปุ่น-อเมริกา เรียนรู้สังคมไทยกับม.วลัยลักษณ์

อัพเดท : 14/08/2557

2015

นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น และประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมโครงการ Field Study Program on: “Southeast Asia Studies (SEAs): Multicultural Society and Religions 2014” เพื่อเรียนรู้ศาสนาและสังคมไทยกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


อาจารย์สุนทร บุญแก้ว อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ ม.วลัยลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ SEAs เปิดเผยว่า โครงการศูนย์พัฒนาธุรกิจ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภาคใต้ สำนักวิชาการจัดการ ม.วลัยลักษณ์ จัดโครงการดังกล่าวเพื่อให้นักศึกษาต่างชาติได้ศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางศาสนาและสังคมของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 4-7 สิงหาคม 2557 โดยรองศาสตราจารย์ ดร.อัศวิน พรหมโสภา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ดร.รุ่งรวี จิตภักดี รองคณบดีสำนักวิชาการจัดการ พร้อมด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมกันต้อนรับอย่างอบอุ่น ณ ห้องระเบียงบรรณ 1 อาคารบรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

อาจารย์สุนทร บุญแก้ว กล่าวว่าโครงการ SEAs เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology) จากประเทศญี่ปุ่น โดยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 4 ปี (พ.ศ. 2555-2558) มีเป้าหมายเพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาและสังคมของประเทศไทย ภายใต้บริบทประชาคมอาเซียน ซึ่งประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 มีนักศึกษาและศาสตราจารย์จาก Ritsumeikan Asia Pacific University (APU) ประเทศญี่ปุ่น และ St. Edward’s University (SEU) ประเทศสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม รวมทั้งสิ้น 26 คน ลักษณะของกิจกรรมมีทั้งการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและ การลงพื้นที่จริงเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนอย่างใกล้ชิด มีการลงพื้นที่เพื่อศึกษาความเชื่อ ธรรมเนียนปฏิบัติ และวิถีชีวิตในชุมชนและพื้นที่ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ พุทธและศาสนาอิสลามในนครศรีธรรมราช เช่น วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ฐานพระสยม หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ ชุมชนและโรงเรียนสอนศาสนาของชาวมุสลิม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้ง มัสยิดซอลาฮุดดีน และการศึกษาการละเล่นหนังตะลุงที่พิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุงสุชาติด้วย

นักศึกษาและอาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้ศึกษาและเรียนรู้ประสบการณ์ด้านพหุสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และในเขตพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยอย่างเต็มที่ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนะและตอบข้อซักถามอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นความรู้และประสบการณ์ที่เสริมต่อจากกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยมหิดลจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร และจะไปต่อยอดที่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย เพื่อเรียนรู้และได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับพหุสังคมและความเชื่อทางศาสนาที่หลากหลายในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากได้ได้รับความรู้ และประสบการณ์ที่น่าประทับใจกลับไปแล้ว ผู้มาเยือนได้รับมิตรภาพที่ดีระหว่างกันกลับไปอีกด้วย

 

ข่าวโดย นายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์
ภาพโดย ส่วนประชาสัมพันธ์และโครงการศูนย์พัฒนาธุรกิจ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภาคใต้