Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

มวล.ร่วมงานประชุม มอ.วิชาการ “ABCงานวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อรับมือภัยพิบัติ”

15/08/2557

1732

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา สำนักงานประสานงานการวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง สกว. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นที่ มวล.-สกว. จัดประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อรับมือภัยพิบัติ (เป็นส่วนหนึ่งของงาน ม.อ.วิชาการ ประจำปี 2557)

รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล รองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประธานในพิธีเปิด ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญในการดำเนินงานวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อรับมือภัยพิบัติ สรุปใจความได้ว่า ภัยพิบัติในภาคใต้เป็นภัยธรรมชาติที่ประชาชนได้รับผลกระทบมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทั้งในรูปแบบของวาตภัย ดินถล่ม อุทกภัย รวมทั้งแผ่นดินไหว ถึงแม้ว่ายังไม่ได้เกิดขึ้นในภาคใต้ แต่เป็นภัยที่ควรศึกษาและเฝ้าระวังเช่นกัน ทั้งนี้สาเหตุที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ทราบกันดีแล้วว่า มาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงอากาศของโลก (climate change) และสาเหตุที่มาจากการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติโดยไม่มีขีดจำกัดของมนุษย์ โดยเฉพาะในอำเภอหาดใหญ่ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะเกิดปัญหาอุทกภัย ทุกๆรอบ 10 – 12 ปี และแต่ละครั้งก่อให้เกิดความเสียหายโดยประเมินค่ามิได้ การรวมตัวกันของสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน จะเป็นกลไกที่สำคัญ ในการร่วมมือกันพัฒนาแนวทางในการป้องกัน แก้ไขปัญหา โดยการสร้างองค์ความรู้ที่ยังขาดแคลนผ่านกระบวนการวิจัย โดยได้รับการสนับสนุน จาก สกว. ซึ่งผลการวิจัยที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน

การประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ ด้านยุทธศาสตร์วิจัยเชิงพื้นที่ สกว. ร่วมเสวนาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายและทิศทางการสนับสนุนทุนวิจัยเชิงพื้นที่ต่อมหาวิทยาลัย” โดย ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ได้กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดงานวิจัยในประเทศไทย ซึ่งแบ่งออกเป็นสองประเภท งานวิจัยประเภทแรกคือ งานวิจัยที่มุ่งเป้าไปสู่ผลงานการตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ และนานาชาติ โดยงานวิจัยประเภทนี้เป็นงานวิจัยที่เน้นการสร้างคนให้มีกระบวนการคิดที่ลึกซึ้งแม่นยำ ผลงานที่ได้เน้นความแตกต่าง และเน้นความแปลกใหม่ แต่งานวิจัยประเภทแรกนี้ มักจะถูกตีความว่าเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง ไม่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติได้ ส่วนงานวิจัยประเภทที่สองคือ งานวิจัยเพื่อพัฒนา เน้นการแก้ปัญหาและการปฏิบัติ ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้ หรือนวัตกรรมที่ได้นั้น อาจจะไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่แต่สามารถใช้ในการแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี ซึ่งงานประเภทที่สองนี้ เป็นงานที่ ABC กำลังดำเนินการ โดย สกว. มีบทบาทที่สำคัญคือการประกาศการให้ทุน และสนับสนุนทุนในการดำเนินงานวิจัย ประเด็นสำคัญที่นักวิจัย หรือมหาวิทยาลัยจะต้องตระหนักคือ ระบบการจัดการงานวิจัย โดยเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการพัฒนาโจทย์วิจัยที่ต้องเน้นย้ำบริบทของพื้นที่ และการนำไปใช้ประโยชน์โดยเจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริง

ในช่วงบ่าย เป็นเวที เสวนาพิเศษ “เรื่องประสบการณ์การทำวิจัยด้านการจัดการน้ำ” โดย คุณแมน ปุโรทกานนท์ เลขาธิการมูลนิธิ Thai Water Partnership ซึ่งได้กล่าวถึงปัญหาการจัดการน้ำในภาพรวมของโลก ไว้ว่า แม้ในปัจจุบันนี้จะมีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการช่วยจัดการน้ำมากก็ตาม แต่การจัดการน้ำไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จเนื่องจากคนในลุ่มน้ำยังมีบทบาทน้อยในการเข้ามามีส่วนร่วมการจัดการน้ำ และสถานการณ์น้ำในโลกปัจจุบันพบว่า มีการใช้น้ำในด้านการเกษตรมากเกินไป โดยเฉพาะในประเทศไทยเพราะขาดกลไกในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติไม่สามารถเชื่อมโยงให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันได้ รวมทั้งยังขาดกฎหมายในการรองรับการจัดการน้ำอย่างแท้จริง

นอกจากการเสวนาพิเศษดังกล่าวแล้วในวันเดียวกันนี้มีการนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อรับมือภัยพิบัติจำนวนทั้งสิ้น 8 เรื่อง โดยเป็นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จำนวน 5 เรื่อง มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ 1 เรื่อง มหาวิทยาลัยทักษิณ 1 เรื่อง และ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 1 เรื่อง โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ร่วมนำเสนอในครั้งนี้คือ อาจารย์จันทิรา รัตนรัตน์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร บรรยายงานวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมของชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดินโคลนถล่มในพื้นที่ตำบลเทพราช อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นผลงานร่วมกับ พล.ต. ดร. นพรัตน์ เศรษฐกุล และ ดร. ธงชัย ขนาบแก้ว ที่ได้รับทุนวิจัยจากโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นที่ มวล.-สกว. ปี 2555

การนำเสนอผลงานวิจัยทั้ง 8 เรื่องนี้ ถือได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายของนักวิจัยเชิงพื้นที่ภาคใต้ที่มีประเด็นในการศึกษาวิจัยใกล้เคียงกัน สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงวิชาการแก่กัน และเชื่อมโยงการทำงานระหว่างนักวิจัย เครือข่ายชุมชน และหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบในโอกาสต่อไปได้มากขึ้น อีกทั้งเป็นโอกาสนำงานวิจัย ABC ที่เป็นงานวิจัยเพื่อพัฒนา เน้นการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา เผยแพร่ในระดับนานาชาติในฐานข้อมูล SCOPUS ผ่านวารสาร Walailak Journal of Science and Technology ฉบับพิเศษ (Vol. 12 No. 6 2015)

ผู้สนใจ สามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการประชุมครั้งนี้ ได้จากเว็บไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ird.wu.ac.th) ที่นอกจากรวมบทคัดย่อผลงานวิจัยทั้ง 8 เรื่องไว้แล้ว เนื้อหายังประกอบด้วย ประมวลข่าวภัยพิบัติภาคใต้ตั้งแต่ปี 2553 สรุปประเด็นจากเวทีสาธารณะนโยบายน้ำของ สกว. และบทความแนะนำงานวิจัยแบบ ABC