Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

3 ภาคส่วนร่วมเสวนา WU Engagement : Show&Share; บริการวิชาการแก่สังคม

03/09/2557

1339

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดเสวนา “มุมมอง บทบาทองค์กร ความร่วมมือ สู่...การขับเคลื่อนพันธกิจสัมพันธ์กับองค์กรชุมชน” ในกิจกรรม WU Engagement : Show&Share บริการวิชาการแก่สังคม เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ณ อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช โดย คุณสมเกียรติ จันทร์หนู หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายพัฒนาและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คุณวาริน ชินวงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช คุณยุทธกิจ มานะจิตต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช และคุณทวี ศรีเกตุ ผู้แทนชุมชน พร้อมด้วยคุณจิตตนา หนูณะ หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ ดำเนินรายการ

คุณสมเกียรติ จันทร์หนู ได้เล่าให้ฟังถึงโครงสร้างการปกครองและการบริหารที่แบ่งเป็น การปกครองส่วนกลาง การปกครองส่วนภูมิภาค และการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งแต่ละประเภทเป็นการให้คำนิยามตามระบบการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ในการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านเป็นการทำร่วมกันภายในหมู่บ้านและชุมชน โดยงบประมาณดำเนินการจะเป็นการประสานร่วมมือกัน อย่างไรก็ตาม แผนการดำเนินงานอาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อเป้าหมาย คือ ความอยู่กินดีและการรู้เท่าทันความเป็นไปของสังคม

นอกจากนี้ ในการดำเนินการต่างๆ ภาครัฐจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนภาคเอกชนและภาคประชาชน อย่างเช่น ฐานข้อมูลด้านการเกษตร การท่องเที่ยว การนำสินค้าเกษตรมาส่งเสริมการท่องเที่ยว (เส้นทางมาเลเซีย-นครศรีธรรมราช) พร้อมพัฒนาสินค้าที่ระลึกที่มีคุณภาพและบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม เพื่อดึงดูดใจนักท่องเที่ยว และประชาชนได้ประโยชน์จากการผลิตสินค้า ซึ่งจะส่งผลให้นครศรีธรรมราชเติบโตอย่างยั่งยืน

คุณวาริน ชินวงศ์ เล่าว่า หอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราชมีบทบาทในการเชื่อมโยง 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ เอกชนและชุมชน เพื่อให้ชุมชนประสบความสำเร็จด้านการประกอบอาชีพ ประชาชนมีเงินใช้จ่าย ส่งผลให้ธุรกิจก้าวหน้า พร้อมทั้งพูดถึงจุดอ่อนของจังหวัดนครศรีธรรมราชเกี่ยวกับการทำอาชีพด้านการเกษตร คือ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ ซึ่งมีปริมาณมาก ส่งผลต่อราคา ขณะที่จังหวัดกระบี่และภูเก็ตได้พัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยว มีเครือข่ายโรงแรมระดับชาติและนานาชาติจำนวนมาก ทำให้มีรายได้ต่อปีกว่า 2 แสนบาท ขณะที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีรายได้ต่อปีเพียง 7-8 หมื่นบาทเท่านั้น ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งจะต้องเป็นความร่วมมือกันระหว่างรัฐ เอกชนและชาวบ้าน โดยอาจจะผลิตสินค้าที่สนับสนุนและส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจากข้อมูลจากการประชุม IMT-GT จังหวัดนครศรีธรรมราชถูกวางให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ปลายทางจึงต้องมีพันธมิตรร่วมเพื่อให้การทำงานบรรลุเป้าหมาย

คุณยุทธกิจ มานะจิตต์ ได้พูดถึงการขับเคลื่อนของธุรกิจที่จำเป็นต้องทำงานร่วมกันของ 3 ภาคส่วน คือ รัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งการดำเนินการภาคอุตสาหกรรมคำนึงถึงชุมชนเป็นหลัก ส่วนราชการและเอกชนพยายามช่วยขับเคลื่อนการดำเนินการภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมอยู่ภายใต้กฎหมายและขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ มากมาย ทำอย่างไรถึงจะลดความซ้ำซ้อนและขับเคลื่อนจังหวัดนครศรีธรรมราชให้พัฒนามากยิ่งขึ้น เป็นที่น่ายินดีที่นครศรีธรรมราชมีบุคลากรรุ่นใหม่ มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และมีผู้นำในอดีตเป็นที่ปรึกษาที่ดี ร่วมกันวางผังเมืองเพื่อสนองตอบต่อคุณภาพชีวิต สวัสดิการและบริการต่างๆ โดยมุ่งประโยชน์ของชุมชนสังคมเป็นสำคัญ ทำให้การทำงานร่วมกับชุมชนเป็นไปได้ด้วยดีโดยเฉพาะภาคอุตสาหรรม

คุณทวี ศรีเกตุ ในฐานะผู้แทนชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจรายใหม่จากหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ เล่าว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้ความช่วยเหลือพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสุขภาพ “ชาทุเรียนน้ำ” ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจนสามารถผลิตจำหน่ายได้ โดยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช หอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดนครศรีธรรมราช สนับสนุนด้านการกระจายสินค้า ส่งผลให้ชุมชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการใหม่ทำให้สามารถพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจรากหญ้าได้ การทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนจึงมีความสำคัญในการพัฒนาเพื่อผลสำเร็จอย่างยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ พูดในฐานะสถาบันการศึกษาว่า การบริการวิชาการถือเป็นพันธกิจสังคมของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยเริ่มต้นจากชุมชน ซึ่งมีศูนย์บริการวิชาการเป็นหน่วยงานที่ไปศึกษาพัฒนาโจทย์และความต้องการของประชาชน ประสานหน่วยงานราชการและทีมอาจารย์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดำเนินการ ในส่วนของการขับเคลื่อนพันธกิจมีโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้เป็นหน่วยงานหลักให้การสนับสนุนการเริ่มต้นทำธุรกิจของภาคเอกชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพันธกิจสังคมของทุกภาคส่วน โดยเริ่มต้นรวมพลังในครั้งนี้เพื่อก้าวเดินไปด้วยกัน

กล่าวโดยสรุป ผู้เข้าร่วมเสวนาเห็นตรงกันว่า การดำเนินการของทุกภาคส่วนต้องมีพันธมิตรร่วมเพื่อการทำงานไปสู่เป้าหมาย คือ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นประชาชนในชุมชน


สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง
บรรพต ใบมิเด็น และ ธีรพงศ์ หนูปลอด ภาพ