Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

รัชฎา คชแสงสันต์ : พัฒนางานวิจัยแบบมีส่วนร่วมจากชุมชน

อัพเดท : 25/11/2557

5880

นางสาวรัชฎา คชแสงสันต์ นักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เน้นแนวทางการการพัฒนางานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ที่มาจากความต้องการหรือปัญหาของชุมชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาในพื้นที่ชุมชนเหล่านั้นให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

นางสาวรัชฎา คชแสงสันต์ จบการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภูมิศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากนั้นศึกษาต่อวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการวางแผนสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาชนบท จากมหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างศึกษาอยู่ได้รับทุนวิจัยมูลนิธิสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และในปี 2549 ได้เข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยที่จะเข้าร่วมไปมีบทบาทการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเพื่อสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพของพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ให้สามารถกลับมาเป็นแหล่งผลิตทางเกษตรที่อุดมสมบูรณ์และชุมชนสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน

จากการเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ทำให้ นางสาวรัชฎา ได้แรงบันดาลใจในการทำวิจัย โดยเน้นที่การทำอย่างไรให้ชุมชนได้ตระหนักรู้คิดเท่าทันและร่วมแรงร่วมใจกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างรู้คุณค่าอย่างยั่งยืน ทำอย่างไรให้ชุมชนได้ตระหนักในคุณค่าและภาคภูมิใจในองค์ความรู้และภูมิปัญญาของชุมชน แล้วดำรงไว้ซึ่งภูมิปัญญาของชุมชนเหล่านั้นให้เป็นวิถีของชุมชน และทำอย่างไรชุมชนจะสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเองบนฐานทรัพยากรของชุมชน ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง โดยงานวิจัยที่เธอให้ความสนใจเป็นพิเศษเป็นเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำโดยชุมชน การอนุรักษ์พืชผักพื้นบ้านและไม้พื้นเมือง ภูมิปัญญาและการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งชุมชนพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

นางสาวรัชฎา ได้ทำงานวิจัยทั้งในฐานะหัวหน้าโครงการและผู้ร่วมวิจัย จำนวน 19 โครงการ โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น โครงการการพัฒนารูปแบบการจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำปากพนังอย่างยั่งยืนโดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนบ้านวังหอน ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากเครือข่าย สกอ. ภาคใต้ตอนบน การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรป่าพรุคลองค็องอย่างยั่งยืน และโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุ์พืชผักพื้นบ้านเป็นแหล่งอาหารชุมชนชายพรุ จากสำนักงาน กปร. โครงการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนต้นน้ำบ้านวังหอน ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โครงการระบบฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โครงการฐานข้อมูลชุมชนต้นแบบการพึ่งตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ แนวทางในการทำงานวิจัยต่างๆ ข้างต้น เป็นการพัฒนางานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ที่มาจากความต้องการหรือปัญหาของชุมชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาในพื้นที่ชุมชนเหล่านั้นให้ดียิ่งขึ้น โดยมีชุมชนร่วมเป็นทีมในการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ของชุมชน เน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นชุมชน ตั้งแต่กระบวนการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมกันใช้ประโยชน์จากงานวิจัยด้วยกัน โดยชุมชนสามารถขับเคลื่อนหรือต่อยอดการดำเนินกิจกรรมนั้นได้ด้วยตนเอง ที่สำคัญเป็นงานวิจัยที่สนองพระราชดำริ ในการหนุนเสริมองค์ความรู้และภูมิปัญญาในการพึ่งพาตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

ในส่วนของความสำเร็จและความภาคภูมิใจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นางสาวรัชฎา บอกว่า คือ การได้ทำงานสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขณะเดียวกัน งานวิจัยที่ทำเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถนำไปต่อยอดทำงานวิจัยอื่นๆ ได้

ในตอนท้าย นางสาวรัชฎา คชแสงสันต์ ได้บอกถึงเป้าหมายในอนาคตในฐานะนักวิจัยว่า “จะร่วมพัฒนาแหล่งเรียนรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง รวมทั้งการสร้างความตระหนักในฐานความรู้และภูมิปัญญาของชุมชนในการพึ่งพาตนเอง”


สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง