Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับเครือข่ายแถลงผลดำเนินการอุดมศึกษาภาคใต้ปลอดเหล้า

อัพเดท : 25/11/2557

2076

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ รวม 16 สถาบัน แถลงผลการดำเนินการมหาวิทยาลัยภาคใต้ปลอดเหล้า พร้อมยื่นข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการควบคุมร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน 2557 ที่ห้องประชุมชมพูพลแกรนด์ โรงแรมเมืองลิกอร์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มารวย เมฆานวกุล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยนายศิริพัฒ พัฒกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และเภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ร่วมแถลงผลการดำเนินงานเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ปลอดเหล้า โดยมีสื่อมวลชนทั้งสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักข่าวท้องถิ่น นักศึกษา สำนักงานเครือข่ายงดเหล้าเข้าร่วมกว่า 120 คน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มารวย เมฆานวกุล กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันมีการประกอบธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายรอบสถาบันอุดมศึกษามีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีกลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆให้นิสิตนักศึกษามีโอกาสเข้าถึงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย ส่งผลกระทบต่อปัญหาการใช้ชีวิตของนักศึกษาตามมา เช่น ปัญหาการมีผลการเรียนต่ำ การพ้นสภาพการศึกษา ปัญหาอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท ปัญหาเรื่องชู้สาว การขายบริการทางเพศ และการใช้สารเสพติดประเภทอื่นที่รุนแรงมากขึ้น ตลอดจนปัญหาสังคมอื่นๆที่ตามมาอีกมากมาย ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพได้เล็งเห็นความสำคัญ และได้สนับสนุนการขับเคลื่อนการป้องกันและการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นแกนนำประสานภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายนิสิตนักศึกษาให้มีส่วนร่วมในการบังคับใช้กฎหมาย นโยบาย มาตรการใหม่ การร่วมเฝ้าระวังการขยายตัวทางธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายนักศึกษาในการประสานงานกับภาคประชาคมงดเหล้า หน่วยงานของรัฐและเอกชนและชุมชนรอบสถาบันเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาพัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อร่วมสร้างกระแสสังคมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถาบันการศึกษาและชุมชนชนโดยรอบ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มารวย กล่าวต่อไปว่า โครงการเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้รวมใจต้านภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 ใน ปี 2557 มีสถาบันการศึกษาในภาคใต้เข้าร่วมทั้งหมด 16 สถาบัน มีการลงนามบันทึกข้อตกลงในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การสำรวจข้อมูลร้านเหล้า และพื้นที่เสี่ยงรายรอบสถาบัน การพัฒนาแกนนำนักศึกษา การจัดกิจกรรมรณรงค์ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ในโอกาสที่ได้มีการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวมาครบรอบ 1 ปี จึงจัดให้มีการประชุมสัมมนาเพื่อให้มีการนำเสนอผลงานที่ผ่านมาของนักศึกษา แนวทางในการทำงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบัน และการประสานความร่วมมือกับภาคีภาคประชาสังคมงดเหล้าของจังหวัดในภาคใต้ ภาคีเครือข่ายต่างๆ ตลอดจนการเผยแพร่ ข้อมูลต่อสาธารณะ และผลักดันในเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทางด้านนางสาวจุฑามาศ จันทวิลัย นักศึกษาจากม.วลัยลักษณ์ในฐานะแกนนำนักศึกษาเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้รวมใจต้านภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวสรุปผลการดำเนินงานของเครือข่ายฯ ว่า จากการสำรวจรอบสถาบันการศึกษาเครือข่ายฯ ในรัศมี 500 เมตร พบว่ามีร้านเหล้า สถานบันเทิงเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยบางสถาบันมีร้านเหล้าถึง 244 ร้าน และใน 16 สถาบันมีร้านเหล้าอยู่ใกล้กว่ารัศมี 20 เมตรจากรั้วมหาวิทยาลัย ถึง 5 แห่ง ทั้งนี้ยังพบประเภทร้านค้าที่ยังมีการกระทำผิดกฎหมายจำนวนมาก ในรูปแบบของร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ ผับ บาร์ ร้านอาหารที่ขายเหล้า และร้านเหล้าปั่นซึ่งมีจำนวนมากที่สุด ส่วนสถานที่ที่นิยมดื่มเยอะที่สุดคือหอพักนักศึกษา ซึ่งจากสภาพแวดล้อมดังกล่าวก่อให้เกิดความง่ายต่อการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน ที่เกิดผลกระทบตามมามากที่สุดคืออุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ภัยทางเพศและอาชญากรรมอื่นๆ ทั้งยังเปิดเกินเวลา ส่งเสียงดังรบกวนการอ่านหนังสืออีกด้วย

โอกาสนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้ร่วมกันทำหนังสือเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ขอให้เร่งผลักดันให้เกิดมาตรการควบคุมร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ห่างจากสถานศึกษาให้รัศมีอย่างน้อย 300 เมตร และมีความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกฎหมายสถานบริการ นอกจากนี้ยังฝากการพัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็ก-เยาวชน รวมถึงการป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่ และยาเสพติดในพื้นที่รายรอบสถานศึกษาเป็นวาระสำคัญสู่เวทีการปฏิรูปในมิติสังคมอีกด้วย

ข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์