Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

วลัยลักษณ์ห่วงใยการประกอบอาชีพที่สัมผัสกับสารตะกั่วกับปัญหาสุขภาพและพัฒนาการในเด็ก

29/01/2558

3883

เมื่อวันศุกร์ที่ 23 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา หน่วยวิจัยพิษวิทยาและโรคติดเชื้อ สำนักสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งประกอบด้วย อ.ดร.วิยดา กวานเหียน อ.ดร.สุภาภรณ์ ยิ้มเที่ยง อ.ดร.อุดมรัตน์ วัฒนสิทธิ อ.ดร.พิมาน ธีรรัตนสุนทร อ.ดร.จันจิรา มหาบุญ อ.ดร.ศิริอุมา เจาะจิตต์ และอ.ดร.สุขุมา ชิตาภรณ์พันธุ์ สำนักวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร ร่วมกับโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นที่ มวล. และ สกว. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และเทศบาลเมืองปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดกิจกรรม “วลัยลักษณ์ห่วงใยการประกอบอาชีพที่สัมผัสกับสารตะกั่วกับปัญหาสุขภาพและพัฒนาการในเด็ก” ณ เทศบาลเมืองปากพูน

กิจกรรม “วลัยลักษณ์ห่วงใยการประกอบอาชีพที่สัมผัสกับสารตะกั่วกับปัญหาสุขภาพและพัฒนาการในเด็ก” ได้รับเกียรติจากคุณเฉลิม ศรีเมือง นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปากพูน เป็นประธานในพิธีเปิด ผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมเวที ได้แก่ คุณวรรณดี จันทร์คง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลมหาราช คุณวิยดา แซ่เตีย นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักป้องกันควบคุมโรคที่ 11 คุณวิชาญ หนูกัน นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช คุณณัฐพงศ์ แหละหมัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ ดร.เลิศชาย ศิริชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านงานวิจัยเชิงพื้นที่ โดยมี อสม. ผู้นำชุมชนและชาวบ้านโดยทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว กว่า 100 คน

หน่วยวิจัยพิษวิทยาและโรคติดเชื้อได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้น สืบเนื่องจากข้อมูลที่ได้ศึกษาถึงผลกระทบของสารตะกั่วในเด็ก ซึ่งจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ใหญ่ ตะกั่วในเลือดมีความสัมพันธ์กับระดับ IQ อย่างชัดเจน มารดาที่มีระดับตะกั่วสูงสามารถส่งผ่านตะกั่วไปยังทารกในครรภ์ได้ ทำให้ทารกในครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรม ปัจจัยส่งเสริมให้เด็กสามารถได้รับผลกระทบจากตะกั่วได้มากเนื่องจากเด็กดูดซึมตะกั่วจากทางเดินอาหารได้ดีกว่าผู้ใหญ่ คือร้อยละ 50% ในขณะที่ผู้ใหญ่ดูดซึมได้เพียงร้อยละ 10% ของปริมาณที่รับประทาน เด็กมีระบบประสาทที่กำลังพัฒนา การสัมผัสตะกั่วนี้ทำให้การพัฒนาผิดรูปไป ช่วงเวลาที่เด็กมีความอ่อนไหวต่อสารพิษที่กระทบต่อพัฒนาการนั้นเป็นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ไปจนถึงช่วงเข้าสู่วัยรุ่น (Needleman et al., 1990; Bellinger, Stiles & Needleman, 1992;Rogan et al., 2001) ผลกระทบต่อพัฒนาการและระบบประสาทไม่สามารถแก้ไขได้ ถึงแม้ว่าจะใช้ยาขับตะกั่วให้ระดับในเลือดกลับมาเป็นปกติ การสัมผัสต่อตะกั่วตั้งแต่อายุน้อยๆ มีผลต่อการแสดงออกด้านพันธุกรรม โดยเห็นจากการที่มีการปรับเปลี่ยนของ DNA ใน cordblood ของมารดาที่มีระดับตะกั่วสูง (Basha et al., 2005; Wu et al., 2008; Pilsner et al., 2009) จึงเกิดเวทีรับฟังปัญหาที่แท้จริงจากชุมชุนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาข้อมูลความคิดเห็นของชุมชนต่อปัญหาผลกระทบในเด็กจากการประกอบอาชีพที่สัมผัสกับสารตะกั่วของผู้ปกครอง และเป็นการสร้างเครือข่ายการทำวิจัยร่วมกับชุมชนในการแก้ไขประเด็นปัญหาในพื้นที่ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากเวทีจะสามารถนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการศึกษาที่จะตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและประเด็นปัญหาในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกันของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างยั่งยืน

กระบวนการทำความเข้าใจเกี่ยวกับพิษภัยของสารตะกั่วที่หน่วยวิจัยพิษวิทยาและโรคติดเชื้อ เลือกใช้เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจกับชาวบ้านคือ การแสดงละครเวทีของนักศึกษาสำนักสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ ตัวละครที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะสอดแทรกเนื้อหาให้เห็นถึงอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารตะกั่วและพิษภัยที่เกิดขึ้นกับเด็ก สามารถเป็นสื่อการเรียนรู้สำหรับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี นอกจากเนื้อหาในละครแล้วข้อมูลของวิทยากร คุณณัฐพงศ์ แหละหมัน ซึ่งพูดถึงสารตะกั่วว่า มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจแต่จะมีวิธีการอย่างไรที่จะอยู่ได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากสารตะกั่ว มีคุณสมบัติหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น ชาวประมงใช้เสนซึ่งมีส่วนผสมของสารตะกั่วในการต่อเรือ อุดรอยรั่วของเรือ ซึ่งเคยมีการศึกษาเด็ก 100 คน โดยวิธีเจาะเลือดพบว่า มีสารตะกั่วปะปน 60 คน ซึ่งค่อนข้างเป็นจำนวนที่สูง ซึ่งสารตะกั่วสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางผิวหนังและลมหายใจ ทางปาก โดยปนเปื้อนไปกับของเล่น อาหารการกิน ซึ่งเด็กไทยมีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะมีการปนเปื้อนของสารตะกั่ว ซึ่งการป้องกันที่พอจะสามารถทำได้ได้แก่

  1. ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งที่จะสัมผัสกับอาหารเพื่อป้อนให้เด็ก หรือจะสัมผัสตัวเด็ก
  2. แยกพื้นที่ทำงานกับพื้นที่อยู่อาศัย
  3. เปลี่ยนชุดทำงานทุกครั้งเมื่อกลับมาถึงบ้าน
  4. ไม่ซักเสื้อผ้าของผู้ใหญ่ร่วมกันกับเด็ก
  5. ดูแลสุขภาพอนามัยตัดผม หนวด เล็บ ให้สะอาด
  6. แยกวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ ที่มีสารตะกั่วให้พ้นมือเด็ก
  7. เลือกใช้ภาชนะในครัวเรือนที่ปราศจากสี

จากข้อมูลของวิทยากรดังกล่าวยิ่งทำให้ชุมชนหันมาให้ความสนใจและร่วมกันพูดคุยในเวที เพื่อหาทางป้องกันแก้ไข

สรุปข้อคิดเห็นของชุมชนและผู้ร่วมเวที ต่อสถานการณ์ปัญหาสารตะกั่วในเด็ก

  • ฟังอันตรายของสารตะกั่วแล้วมีความรู้สึกกลัวเพราะมีหลานเล็กๆที่ชอบเอาสิ่งของต่างๆ เข้าปาก
  • มีข้อสังเกตเกี่ยวกับเด็กๆในหมู่บ้านลักษณะของเด็กคือ ตัวเล็ก ซีด
  • อาชีพมาดอวนเป็นอาชีพที่ชุมชนส่วนใหญ่รับมาทำเองที่บ้านและเป็นเรื่องยากที่จะแยกโซนทำงานกับโซนที่อยู่อาศัยเนื่องจากมีที่อยู่อาศัยคับแคบ ไม่สามารถแยกโซนได้
  • นอกจากอาชีพถักอวนแล้วชุมชนเองยังมีอาชีพอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการได้รับสารตะกั่ว เช่น ก่อสร้าง ช่างทาสี
  • ข้อมูลของโรงเรียนพบว่า เด็กค่อนข้างเรียนช้า อาหารเช้าไม่ได้ทาน เด็กมักจะมีอาการปวดท้อง ปวดหัว ร่างกายผอม ซีด สอนยาก จำไม่ค่อยได้ การบ้านไม่ทำ
  • ศูนย์เด็กเล็กอยู่ใกล้กับสถานที่ๆ มีอาชีพทำมาดอวน โรคที่พบมากในเด็ก คือโรคทางระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ปวดท้อง และมีการตรวจประเมินพัฒนาการล่าช้าบ้าง และส่งต่อโรงพยาบาลมหาราช เช่น เด็กดาวน์ซินโดรม
  • ข้อมูลของโรงพยาบาลมหาราชที่นำเด็กมาตรวจเชาวน์เล็ก(ตรวจวัดพัฒนาการ) ในคลินิกพัฒนาการเด็ก พบว่า เด็ก 7 คนที่มาตรวจมีจำนวนเด็กถึง 5 คน ที่มีเกณฑ์พัฒนาการล่าช้ากว่ามาตรฐาน
  • ปัญหาที่พบนอกจากสารตะกั่วในเด็ก คือผลกระทบด้านสุขภาพของคนวัยทำงาน เช่น นิ้วล็อก ปวดเอว ปวดหลัง

ชุมชนอยากให้มหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยอะไร

  1. อยากให้ มวล. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อคัดกรองเด็กและให้ความรู้แก่ อสม.เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากสารตะกั่ว ในลักษณะของพี่เลี้ยง
  2. อบรมให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในเรื่องผลกระทบ รวมทั้งวิธีแก้ไข การคัดกรองเด็ก
  3. บูรณาการการอบรมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสองเทศบาลคือ ท่าแพ และปากพูน

ข้อสรุปการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายโดย อ.ดร.เลิศชาย ศิริชัย

ปัญหาหลายประเด็น รวมทั้งปัญหาสารตะกั่วเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นและชาวบ้านทั่วไปเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งชุมชนโดยทั่วไปเป็นบุคลที่มีอำนาจต่อรองในสังคมน้อย มีภาระที่ต้องรับผิดชอบในการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ชีวิตที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาไปสนใจกับเรื่องผลกระทบที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่จะสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ก็มีจำนวนน้อย ทำให้ประเด็นเหล่านี้ถูกผลักภาระให้รับภาระผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนา
หน่วยวิจัยพิษวิทยาและโรคติดเชื้อที่มาจัดเวทีดังกล่าว เป็นทีมที่เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องสารตะกั่ว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่มองไม่เห็นผลกระทบอย่างทันทีทันใด แต่จะเป็นปัญหาที่สะสมไปกับลูกหลานตลอดชีวิต ทางหน่วยวิจัยฯ จะร่วมกับชุมชนในการคลี่คลายปัญหา โดยวิธีทำงานร่วมกันหลายฝ่าย เพราะการจะทำให้ทุกคน พ่อแม่ พี่น้อง ผู้ปกครอง ตระหนักรู้ถึงพิษภัยจากสารตะกั่วในเร็ววันนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการป้องกัน และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในที่สุด