Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อาจารย์ ดร. มนัส โคตรพุ้ย : ศึกษาเชิงประยุกต์ทางเทคนิคการแพทย์

16/02/2558

8125

อาจารย์ ดร. มนัส โคตรพุ้ย อาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เน้นศึกษาเชิงประยุกต์ทางเทคนิคการแพทย์เพื่อพัฒนาการตรวจวินิจฉัยและการป้องกันโรคต่างๆ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่วารสารระดับนานาชาติ ในฐานข้อมูล ISI จำนวน 8 เรื่อง

อาจารย์ ดร. มนัส โคตรพุ้ย สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเขมราฐพิทยาคม อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี สาขาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จากนั้นได้รับทุนพัฒนาอาจารย์จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว ได้มาปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ด้วยความชอบในการสอนหนังสือและชอบที่จะทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงเป็นแรงบันดาลใจทำให้สนใจที่จะทำงานวิจัย ดังนั้นนับตั้งแต่ได้มาปฏิบัติงานในฐานะอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 อาจารย์ ดร. มนัส ก็ทำงานวิจัยควบคู่ไปการสอนนักศึกษา โดยพยายามสนใจค้นคว้าหาแนวทางใหม่ๆ ในการทำวิจัย เพื่อให้ตนเองมีความตื่นเต้นและพร้อมที่จะทำงานวิจัยอยู่เสมอ

ในการทำวิจัยนั้น อาจารย์ ดร. มนัส เล่าให้ฟังว่า จากความสนใจศึกษาเชิงประยุกต์ทางเทคนิคการแพทย์เพื่อพัฒนาการตรวจวินิจฉัยและการป้องกันโรคต่างๆ จึงเริ่มจากการมีแนวคิดที่จะศึกษาอุบัติการณ์ ความชุกของโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคในเขตร้อนบริเวณภาคใต้ ทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ เช่น มะเร็ง โรคตับ โรคเลือด โรคมาลาเรีย เป็นต้น จากนั้นวางแผนที่จะทำการทดลองทางห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษาโรคในเชิงลึกมากขึ้น เช่น การศึกษาหน้าที่การทำงานของดีเอ็นเอ โปรตีนที่เป็นสาเหตุของโรค ทำให้โรครุนแรงขึ้น เพื่อหาวิธีป้องกันโรคเหล่านั้น ซึ่งผลของการวิจัยมุ่งหวังที่จะสร้างเครื่องมือในการวินิจฉัยโรคต่างๆ เช่น โปรแกรมวิเคราะห์การติดเชื้อ เครื่องหมายพยากรณ์โรคที่เหมาะจะนำมาใช้ทดแทนการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการณ์ประจำวัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความไว ความจำเพาะ ลดเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการทำงานประจำวันของห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ได้

จากการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำให้มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ ฐานข้อมูล ISI เช่น วารสาร Asian Pacific Journal of Cancer Prevention, Heath Expectations, Asian Biomedicine, Contemporary Oncology, European Journal of Gynaecological Oncology และ Malaria Journal เป็นต้น จำนวน 8 เรื่อง ได้รับ impact factor ทุกเรื่อง ตั้งแต่ 0.21-3.49 โดยเป็นเจ้าของผลงานที่เป็นชื่อแรก (first and corresponding author) ทั้ง 8 เรื่อง

ที่สำคัญ เพื่อให้นักศึกษาได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางด้านการวิจัย อาจารย์ ดร. มนัส ได้นำผลงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ มาสอนในรายวิชาต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น รายวิชาพยาธิวิทยา ปรสิตวิทยาทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากนักศึกษาจะได้ความรู้หลักที่เป็นสากลแล้ว ยังได้มุมมองใหม่ๆจากงานวิจัยอีกด้วย ทำให้อาจารย์รู้สึกตื่นเต้นที่ได้ทำงานวิจัยและคิดอยู่เสมอว่า ผลงานวิจัยที่ได้จะทำให้นักศึกษาได้ความรู้เพิ่มขึ้น พร้อมเปิดโลกทัศน์ด้านงานวิจัยใหม่ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องให้กับนักศึกษา ยิ่งไปกว่านั้นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะและความตั้งใจของนักศึกษาเวลาอาจารย์สอน เป็นส่วนที่ทำให้อาจารย์พยายามพัฒนางานสอนให้ดียิ่งขึ้นตลอดเวลา

นอกจากการสอนและการวิจัยแล้ว อาจารย์ ดร. มนัส ยังทำงานด้านบริการวิชาการอีกภารกิจหนึ่ง ด้วยเห็นว่า เป็นความรับผิดชอบที่ต้องมีให้แก่สังคมในเชิงสุขภาพ โดยนำทั้งความรู้ที่ได้สอน ได้อ่าน ได้ทบทวนแก่นักศึกษา แม้กระทั่งผลงานวิจัยที่ทำไปสู่ชุมชน เพื่อให้สังคมตระหนักถึงปัญหาทางสุขภาพ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการป้องกันโรคต่อไป

เมื่อถามถึงความสำเร็จและความภาคภูมิใจ อาจารย์ ดร. มนัส บอกว่า “การมุ่งเน้นการสอนที่สนุก การดูแลนักศึกษาทำกิจกรรมในฐานะที่เป็นอาจารย์กิจกรรม และงานวิจัยทีได้ทำในช่วงเวลา 2 ปี ในรั้วมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำให้ได้รับรางวัล Research Achievement Award for Junior Faculty Member ของสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปี พ.ศ. 2556” ถือเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจ

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ ดร.มนัส โคตรพุ้ย ได้กล่าวในตอนท้ายถึงเป้าหมายในอนาคต ว่า จะมุ่งสอนให้นักศึกษาเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในตนเอง มีความนอบน้อมถ่อมตนต่อผู้อื่น รู้จักการเสียสละเพื่อส่วนรวม การทำวิจัยเพื่อนำองค์ความรู้ใหม่ๆ มาสอนให้นักศึกษาอย่างสม่ำเสมอ ให้นักศึกษาได้มีความคิดและจินตนาการที่นอกกรอบ และสุดท้ายคือการให้บริการแก่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดความมั่งคงทางสุขภาพแก่ชุมชนต่อไป

 


สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์ เรียบเรียง