Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

“ครูในฝัน” ในมุมมองของ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน

31/03/2558

5141

 


“ครูในฝัน” ในมุมมองของ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คือ ครูที่มีความรู้ดี สอนดี และปฏิบัติตนดีตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ และความต้องการของสังคม โดยยึดผู้เรียนและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน (Learning Outcome) เป็นสำคัญ

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ครูในฝัน” เนื่องในโอกาสสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครบปีที่ 23 วันที่ 29 มีนาคม 2558 ณ ห้อง 203 อาคารวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยในตอนต้นได้บอกเล่าถึงความต้องการที่จะเป็นครูในวัยเด็กว่า มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นครูตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าโรงเรียน ครูคนแรก คือ พ่อ ที่สอนการเขียนอ่าน พร้อมทั้งเป็นผู้แนะแนวทางด้านการศึกษาในอนาคตว่า ควรจะเป็นครู เพราะเป็นคนที่อ่านหนังสือเร็ว จับใจความเก่ง จึงเกิดความฝังใจตั้งแต่นั้นมาที่จะมีอาชีพเป็นครู

ในการก้าวไปสู่เป้าหมายของการเป็นครูทางด้านอักษรศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร เริ่มจากการหาข้อมูลโดยในสมัยนั้นซึ่งจะมีเพียงคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สอนด้านการเป็นครูในระดับปริญญา ซึ่งต้องจบทางด้านอักษรศาสตร์ก่อนและเรียนต่ออีก 2 ปี เพื่อเป็นครู

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ได้พูดถึง “ครูดี” ว่า มี 3 สุ ตามแนวพุทธปรัชญาด้านการศึกษา คือ สุวิชชาโน มีความรู้ดี จะสอนวิชาอะไรต้องเข้าใจ เข้าถึงในสิ่งที่ตนเองสอน สุสาสโน สอนดี มีวิธีการถ่ายทอดและให้ความรู้ที่ทำให้คนเข้าใจได้ง่าย “สอนดี ชี้แจง ชักจูง ปลุกใจ ให้เพลิน” คือ สิ่งที่คนเป็นครูควรมี สุปฏิปันโน ปฏิบัติตนดี มีความรักในอาชีพ รักเด็ก และประพฤติตนอยู่ในกรอบของจรรยาวิชาชีพ หากมองในมุมของครูมืออาชีพ มี 3 มิติ คือ ความเป็นนักวิชาการ (Scholar) รู้ลุ่มลึกในศาสตร์และสาขาวิชาที่สอน ความเป็นครูนักวิชาชีพ (Teacher) ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง หากสอนในระดับก่อนอุดมศึกษาจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (เหมือนกับแพทย์ที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์) ความเป็นคน (Person) จึงต้องรับผิดชอบและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้าใจ ใส่ใจ

ความเป็นครูตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพ 3 มิติ ประกอบด้วย ด้านกิจกรรม(Areas of Activity) ทำกิจกรรมได้ดีทั้งการออกแบบการเรียนรู้ สอน ประเมิน พัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ และเข้าร่วมการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง ด้านความรู้หลัก (Core Knowledge) มีสาระความรู้ มีวิธีการสอน รู้วิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ประเมินการสอนและการประกันคุณภาพการศึกษา ค่านิยมทางวิชาชีพ (Professional Values) ยึดมั่นในค่านิยม จริยธรรมในวิชาชีพ โดยคำนึงถึงผู้เรียน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้เรียน ใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพและความต้องการของสังคม

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ได้สรุปในตอนท้ายว่า “ครูในฝัน” คือ ครูที่มีความรู้ดี สอนดี และปฏิบัติตนดีตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ และความต้องการของสังคม โดยยึดผู้เรียนและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน (Learning Outcome) เป็นสำคัญ

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์ เรียบเรียง