Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผศ.ดร.ชูชาติ พันธ์สวัสดิ์ : มุ่งเน้นงานวิจัยด้านโรคมาลาเรียและโรคเขตร้อนอื่นๆ

อัพเดท : 07/04/2558

9615

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ พันธ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศึกษางานวิจัยจากความสงสัยและไม่รู้ เพื่อนำไปสู่การตั้งสมมติฐานเพื่อหาคำตอบ ซึ่งมุ่งเน้นงานวิจัยด้านโรคมาลาเรียและโรคเขตร้อนอื่นๆ โดยดำเนินงานแบบคู่ขนานทั้งงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนดีบุกพังงาวิทยายน จังหวัดพังงา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเทศนิคการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2549 จากนั้นศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับทุนบัณฑิตศึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับทุนการศึกษาปริญญาเอกภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติและทุนผู้ช่วยวิจัยบัณฑิตศึกษา จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

นอกจากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ ยังได้รับรางวัล Professor Emeritus Khunying Tranakchit Harinasuta Award ซึ่งมอบให้กับผู้ที่มีผลการเรียน course work ยอดเยี่ยมในหลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิตสาขาอายุรศาสตร์เขตร้อน ประจำปีการศึกษา 2550 ทั้งยังได้รับโล่เกียรติยศและใบประกาศเกียรติคุณจากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้สำเร็จการศึกษาที่มีผลการศึกษาดีเยี่ยม พร้อมทั้งมีชื่อบันทึกไว้ใน "DEAN'S LIST" และในใบรายงานผลการศึกษา

 

 

ขณะศึกษาระดับปริญญาเอกได้ทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง การกระตุ้นของทรานสคริปชั่น แฟคเตอร์ : นิวเคลียร์แฟคเตอร์แคปปาบีในโรคมาลาเรีย (Activation of Transcription Factor : Nuclear Factor kappa B (NF-kB) in Malaria) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พญ.พรรณเพ็ญ วิริยเวชกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวถือเป็นผลงานวิจัยเรื่องแรกที่ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโปรตีน NF-kB p65 ใน peripheral blood mononuclear cells (PBMCs) จากผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาลาเรีย ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี (สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์) ประจำปี 2557 จากสภาวิจัยแห่งชาติ

เนื่องจากเป็นคนที่ชอบและรักในการทำงานวิจัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเชื่อว่าการทำงานวิจัยช่วยทำให้มีกระบวนการวางแผนที่ดี สามารถเรียนรู้และแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันเป็นการฝึกให้เป็นคนมีความรับผิดชอบและมีความอดทน ดังนั้นจึงรู้สึกภูมิใจทุกครั้งเมื่องานวิจัยสำเร็จและผลงานวิจัยได้รับการเผยแพร่ในระดับนานาชาติ จากความสำเร็จดังกล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ บอกว่า เนื่องจากได้รับตัวอย่างที่ดี รวมถึงคำแนะนำและการชี้แนะแนวทางในการทำงานวิจัยจากอาจารย์ 3 ท่าน คือ รองศาสตราจารย์ ดร.มณฑล เลิศคณาวนิชกุล อาจารย์ที่ปรึกษาหลักในการค้นคว้าวิจัยระดับปริญญาตรี รองศาสตราจารย์ ดร.ศิรินุช ศรีเจริญเวช อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักในระดับปริญญาโท และรองศาสตราจารย์ ดร.พญ.พรรณเพ็ญ วิริยเวชกุล อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักในระดับปริญญาเอก
 

 

ทั้งนี้ งานวิจัยส่วนใหญ่ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเป็นงานวิจัยที่ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการเรียนในระดับปริญญาเอก ซึ่งเป็นการทำงานวิจัยร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.พญ.พรรณเพ็ญ วิริยเวชกุล โดยที่มาของหัวข้อหรือปัญหาวิจัยได้มาจากความสงสัยและไม่รู้ นำไปสู่การตั้งสมมติฐาน เพื่อหาคำตอบของปัญหาหรือข้อสงสัยนั้นๆ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผลงานวิจัยที่ได้มีความสมบูรณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ ได้สร้างเครือข่ายการทำวิจัยร่วมกับอาจารย์ในสำนักวิชาแพทยศาสตร์และสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ และสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยของสถาบันภายนอก เช่น คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
 

ด้วยพื้นฐานความรู้และความชอบที่ได้เล่าเรียนมาทางด้านอายุรศาสตร์เขตร้อน ทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ มีความชำนาญพิเศษด้านพยาธิสภาพและพยาธิกำเนิดของโรคมาลาเรีย ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเป็นงานวิจัยพื้นฐานเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ของกลไกการเกิดโรคมาลาเรียและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรีย ในปัจจุบันได้พยายามนำองค์ความรู้ที่ได้ศึกษามาใช้กับงานวิจัยแบบประยุกต์ด้านโรคมาลาเรียเพิ่มมากขึ้น โดยมีการค้นคว้าหาโปรตีนตัวใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาลาเรีย ซึ่งได้รับทุนโครงการส่งเสริมการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา (HERP) ประจำปีงบประมาณ 2558 จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ) เพื่อดำเนินโครงการวิจัย เรื่องการศึกษาการแสดงออกของ kidney injury molecule-1 (KIM-1) สำหรับเป็นตัวชี้วัดเพื่อตรวจสอบการบาดเจ็บของท่อไตส่วนต้นในภาวะไตวายเฉียบพลันด้วยโรคมาลาเรียฟาลซิพารัมชนิดรุนแรง ซึ่งหากโครงการวิจัยชิ้นนี้สำเร็จ คาดว่าจะสามารถนำโปรตีน KIM-1 มาช่วยพยากรณ์ภาวะไตวายเฉียบพลันในผู้ป่วยโรคมาลาเรียได้
 

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ระหว่างที่ศึกษาระดับปริญญาเอกจนถึงปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ มีผลงานวิจัย จำนวน 16 เรื่อง ที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการทั้งระดับชาติและนานาชาติ เช่น Malaria Journal, BMC Complementary and Alternative Medicine, Journal of Toxicologic Pathology, Southeast Asian Journal of Tropical Medicine and Public Health และ Walailak Journal of Science and Technology เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการในระดับนานาชาติในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์ เช่น The 6th ASEAN Congress of Tropical Medicine and Parasitology ประเทศมาเลเซีย Focus on Microscopy 2012 ประเทศสิงคโปร์ และ Joint International Tropical Medicine Meeting ประเทศไทย เป็นต้น
 

เนื่องจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ มีความชอบในอาชีพอาจารย์บวกกับมีความมุ่งมั่นที่จะกลับมาพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งเป็นสถาบันที่จบการศึกษามา จึงได้ทุ่มเทให้กับการเรียนการสอน โดยเน้นให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลาง ฝึกให้นักศึกษามีกระบวนการคิด วิเคราะห์ และฝึกปฏิบัติจริง เพื่อที่จะได้นำความรู้ที่ได้ไปใช้ได้จริงในอนาคต พร้อมทั้งสอดแทรกงานวิจัยระหว่างการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม โดยมุ่งเน้นพัฒนานักศึกษาให้เป็นทั้ง “คนเก่งและคนดี” โดยได้มีการพัฒนาการเรียนงานสอนอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการค้นคว้าหาความรู้และข้อมูลใหม่ๆ เพื่อนำมาสอดแทรกในบทเรียนให้นักศึกษาได้มีความรู้ที่ทันสมัยทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน
 

ในส่วนของงานวิจัย มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนางานวิจัยด้านโรคเขตร้อน โดยเฉพาะโรคมาลาเรียและโรคเขตร้อนอื่นๆ ที่พบได้บ่อยในแถบจังหวัดภาคใต้ตอนบน เช่น การศึกษาความชุกของการติดเชื้อหนอนพยาธิและโปรโตซัวในลำไส้ รวมทั้งพัฒนาต่อยอดงานวิจัยพื้นฐานไปสู่งานวิจัยแบบประยุกต์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น การค้นคว้าโปรตีนตัวใหม่ที่เกี่ยวข้องกับโรคมาลาเรียสำหรับช่วยในการพยากรณ์การดำเนินของโรคในผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาลาเรีย ทั้งยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาเทคนิคและวิธีการใหม่ๆ เพื่อใช้สำหรับการวินิจฉัยโรคเขตร้อนอีกด้วย ซึ่งจากความทุ่มเทด้านการเรียนการสอนและความมุ่งมั่นในการทำงานวิจัยทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ พันธ์สวัสดิ์ ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการประชุม ครั้งที่ 2/2558 วันที่ 21 มีนาคม 2558 ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คนล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2557 โดยใช้เวลาเพียง 2 ปีเศษ หลังจากสำเร็จการศึกษาและปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ ได้พูดถึงความสำเร็จที่ภาคภูมิใจ คือ การสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกและเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อให้ความรู้กับนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในฐานะศิษย์เก่า
 

เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ พันธ์สวัสดิ์ บอกว่า ตั้งใจจะเป็นอาจารย์และนักวิจัยที่ดีและมีคุณภาพ เพื่อก้าวไปสู่การได้รับตำแหน่งทางวิชาการที่สูงสุดในอนาคต และอุทิศตนเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และพัฒนางานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติ

 

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์ เรียบเรียง