Location

0 7567 3000

ข่าวการศึกษา

นักเรียนจาก 14 ศูนย์สอวน.ทั่วประเทศ ร่วมแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ ที่ม.วลัยลักษณ์

อัพเดท : 08/04/2558

4379

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาชราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.) โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน จัดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 2-6 เมษายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อคัดเลือกนักเรียนเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันในฟิสิกส์โอลิมปิกระดับนานาชาติต่อไป โดยมีนักเรียนจากศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. 14 ศูนย์ทั่วประเทศ จำนวน 106 คน เข้าร่วม


โดยเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา ในพิธีเปิดได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิ สอวน. เป็นประธานเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ โดยมี ดร.สุเมธ แย้มนุ่น รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการแข่งขันในนามของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายศิริพัฒ พัฒกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมแข่งขันในนามจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ กล่าวรายงานการจัดแข่งขัน

โอกาสนี้ ก่อนที่จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ได้มีพิธีถวายเครื่องราชสักการะและถวายพระพร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ 60 พรรษา 2 เมษายน 2558 ด้วย


ศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาชราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง มูลนิธิสอวน.ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับนักเรียนไทยที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกในต่างประเทศ และมุ่งส่งเสริม พัฒนาและยกระดับมาตรฐาน การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในประเทศไทย ในปัจจุบันมีศูนย์ สอวน. ทั้งสิ้น 14 ศูนย์ กระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆทั้งในเขตภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร


อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานักเรียนไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลโดยเฉพาะเหรียญทองในเวทีระดับชาติมาแล้วจำนวนมาก ถือได้ว่า เป็นพัฒนาการความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของหลายๆ ฝ่าย นอกจากนี้ในปัจจุบันซึ่งมี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน พระองค์ได้มีพระราชวินิจฉัยโปรดเกล้าฯ ให้มีการขยายโครงการไปยังโรงเรียนต่างๆมากขึ้น เพื่อขยายโอกาสให้แก่นักเรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมทั้งการพัฒนาครูทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เพื่อให้มีความรู้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ฟิสิกส์ถือเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์มาอย่างยาวนาน ทำให้มนุษย์เข้าใจธรรมชาติมากยิ่งขึ้น เป็นความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และยังสามารถนำไปใช้สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ อีกมากมาย ในปัจจุบันประเทศยังขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษาที่มีความรู้ด้านฟิสิกส์ ดังนั้นการส่งเสริมนักเรียนให้มีความสนใจทางด้านฟิสิกส์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

การจัดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 14 นอกจากเป็นความร่วมมือระหว่างคณาจารย์ที่สอนฟิสิกส์แล้ว ยังเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรที่มีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการศึกษาในสาขาวิชานี้ นับว่าเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนการสอนในสาขาฟิสิกส์ของประเทศ และยังเป็นโอกาสที่ดีที่จะมีการเตรียมความพร้อมของนักเรียนผู้แทนประเทศไทยเพื่อเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไป



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ กล่าวรายงานว่า สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 2-6 เมษายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิ สอวน. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จังหวัดนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ มีผู้เข้าร่วมจากศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. จำนวน 14 ศูนย์ทั่วประเทศ ประกอบด้วย นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 106 คน ครูสังเกตการณ์ จำนวน 16 คน และอาจารย์ผู้แทนศูนย์ฯ จำนวน 32 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนกลาง กรรมการดำเนินงาน เจ้าหน้าที่และนักศึกษา รวมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 224 คน


ในการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติครั้งนี้ ผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะต้องทำข้อสอบในภาคทฤษฎี ภาควิเคราะห์ข้อมูล และภาคสังเกตการณ์ เพื่อคัดเลือกเยาวชนที่มีความพร้อมด้านวิชาการสาขาฟิสิกส์เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไป อีกทั้งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของนักเรียนที่มีความสามารถด้านฟิสิกส์เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ความสามารถด้านฟิสิกส์ ในการพัฒนาการศึกษาและการวิจัยด้านฟิสิกส์ของประเทศไทยในอนาคต

 

ภาพ/ข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์