Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผศ.ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ : จากแนวคิด “ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด”และ “ความใฝ่รู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้”

01/05/2558

9589

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับแนวคิดที่ว่า “ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด” ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต ตราบเท่าที่เราอยากเรียนรู้ และมีแรงบันดาลใจด้านงานวิจัยจาก “ความใฝ่รู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้” โดยเปรียบนักวิจัยเสมือนนักสืบ ทำให้เกิดผลงานมากมาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ เป็นชาวจังหวัดสตูล จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนควนกาหลงวิทยาคม "นิคมวัฒนา" จังหวัดสตูล ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีและสำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในสาขาเทคนิคการแพทย์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (บัณฑิตรุ่นที่ 6) จากนั้นได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท-เอก ด้านพยาธิชีววิทยา จากภาควิชาพยาธิชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำช่วยเหลือจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุรสีห์ วัฒนวิกย์กิจ คณบดี และอาจารย์วิทยา อานามนารถ สำนักสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ รวมทั้งอาจารย์อีกหลายๆ ท่าน จนทำให้ได้รับการจัดสรรทุนโครงการเครือข่ายเชิงกลยุทธ์เพื่อการผลิตและพัฒนาอาจารย์ในระดับอุดมศึกษา (โทควบเอก) จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จึงเข้ามาปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ สังกัดสำนักวิชาแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2555 จากความมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับการสอนและการวิจัยเป็นเวลากว่า 2 ปี ทำให้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ (สาขาพยาธิชีววิทยา)

จากแนวคิดที่ว่า "ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด" ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต ตราบเท่าที่เราอยากเรียนรู้ ทำให้การทำหน้าที่ในฐานะอาจารย์ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ที่นอกจากมีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และ/หรือประสบการณ์แล้ว ยังอยู่ในฐานะผู้เรียนด้วยเช่นกัน โดยเรียนรู้วิธีคิดของนักศึกษาจากการเรียนเป็นกลุ่ม ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem based learning : PBL) โดยสำนักวิชาแพทยศาสตร์ให้ความสำคัญและเน้นรูปแบบการเรียนการสอนในลักษณะนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้โดยตรงด้วยตนเองบวกกับการชี้แนะของผู้สอน ขณะเดียวกัน ก็ทุ่มเทให้กับการสอนอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อให้สอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ว่า “มุ่งสร้างบัณฑิตให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง” อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ เล่าต่อว่า ในส่วนของการวิจัยจะทำให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ ที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับการเรียนการสอนได้ นอกจากนี้ องค์ความรู้ดังกล่าวสามารถนำไปเป็นฐานความรู้เพื่อพัฒนาต่อยอดให้เกิดความรู้ใหม่ๆ ขึ้นอีกจำนวนมาก ดังนั้นการวิจัยจะทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด "ไม่มีที่สิ้นสุด" และองค์ความรู้ที่ตกผลึกแล้วสามารถนำไปเชื่อมโยงกับงานบริการวิชาการให้แก่ชุมชนได้

ทั้งนี้ แรงบันดาลใจในการทำวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ เริ่มจาก "ความใฝ่รู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้" โดยเปรียบนักวิจัยเสมือนนักสืบ จึงต้องมีการวางแผนการทำวิจัยและทำการทดลองเพื่อไขคำตอบดังกล่าว เน้นการทำงานวิจัยเป็นกลุ่ม และจะมีความสุขมากหากคำตอบหรือผลการทดลองสามารถสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ให้แก่วงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือสามารถนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์และเป็นรูปธรรมได้จริง โดยสนใจศึกษาด้านพยาธิวิทยาและพิษวิทยา (Toxicological pathology) เน้นศึกษากลไกที่ทำให้เกิดพยาธิสภาพในภาวะเครียดออกซิเดชั่น (oxidative stress) รวมทั้งศึกษาคุณสมบัติของสารที่ได้จากธรรมชาติในการต้านอนุมูลอิสระ

ผลงานวิจัยที่มีชื่อของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ เป็นชื่อแรกได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทางวารสารวิชาการระดับนานาชาติและระดับชาติ จำนวน 8 เรื่อง เช่น วารสาร Tropical Journal of Pharmaceutical Research, African Journal of Traditional Complementary and Alternative Medicines, Journal of Medicinal Plants Research และ Journal of Toxicologic Pathology เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งกลุ่มวิจัยภายใต้ชื่อ "กลุ่มวิจัยพยาธิชีววิทยาของเซลล์และเนื้อเยื่อ" เพื่อศึกษาและวิจัยการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับเซลล์และเนื้อเยื่อ ที่มีสาเหตุมาจากสารเคมีและเชื้อโรค โดยมุ่งเน้นศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี รูปร่าง และโครงสร้างระดับเซลล์และเนื้อเยื่อ ซึ่งทดลองทั้งในหลอดทดลอง (in vitro) และในสัตว์ทดลอง (in vivo) เพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นแนวทางในวินิจฉัยโรคและการรักษาโรคให้มีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัยทั้งภายในมหาวิทยาลัย และระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย ภายใต้แนวคิดที่ว่า "นักวิจัยต้องสามารถสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีคุณภาพภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัดได้"

แม้ว่า จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภายในสองปีหลังจากมาปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ ได้เป็นรองบรรณาธิการ (Associate Editor in Health and Biological Sciences) ของวารสาร Walailak Journal of Science and Technology เป็นผู้ประเมินบทความวิจัย (reviewer) ให้แก่วารสารทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เช่น BMC complementary and alternative medicine, Pharmaceutical biology, Natural product communications เป็นต้น และเป็นหัวหน้ากลุ่มวิจัยพยาธิชีววิทยาของเซลล์และเนื้อเยื่อ แต่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ บอกว่า ทั้งหมดถือเป็นจุดเริ่มต้นและก้าวแรกในการทำงาน ยังต้องมีการสั่งสมประสบการณ์อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม "ครอบครัวคือกำลังใจที่สำคัญที่สุด"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ บอกในตอนท้ายว่า “ผมมีการตั้งเป้าหมายในแต่ละด้านเอาไว้ และวางแผนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย จากนั้นทำทุกอย่างที่วางไว้อย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ และมั่นใจ โดยบอกตัวเองเสมอว่า "เดินแต่ละก้าวจงมั่นใจ พยายามมุ่งไปข้างหน้า เพื่อค้นหาความสำเร็จ"

สมพร อิสรไกรศีล
ส่วนประชาสัมพันธ์ เรียบเรียง