Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ Symposium of International Languages and Knowledge (SILK)

16/06/2558

3196

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์โดยสำนักวิชาศิลปศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ Symposium of International Languages and Knowledge (SILK) ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ Languages in Diverse Contexts : Pedagogy and Creativity และแนวคิด "Unity through Diversity ผสานความต่างให้เป็นหนึ่งเดียว" ระหว่างวันที่ 12-13 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2558 ได้มีพิธีเปิดการประชุม ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วัลลา ตันตโยทัย รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เป็นประธานเปิดงาน อาจารย์ ดร.เลิศชาย ศิริชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคมและคณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมด้วย อาจารย์ ดร. วรรัตน์ หวานจิตต์ หัวหน้าสาขาวิชาภาษาอังกฤษ กล่าวรายงาน

โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปาฐกถาพิเศษเรื่อง The Role and Importance of Foreign Languages in the ASEAN Community Dynamism โดยเริ่มจากคำพูดของ Mr.Frank Smith นักภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยา ที่ว่า “One language sets you in a corridor for life; two languages open every door along the way” หมายถึงการรู้เพียงภาษาเดียว ทำให้เราสามารถสื่อสารเฉพาะคนในกลุ่มเล็กๆ เป็นการปิดโอกาสเราที่จะได้เรียนรู้และรู้จักชาวต่างชาติอื่นๆ การเรียนรู้ทุกภาษาต้องอาศัยความเพียรพยายามเป็นอย่างมาก แต่ผลที่ได้รับคือ ทำให้เรามีศักยภาพในการรับรู้และเข้าใจในภาษานั้นๆ รวมทั้งสามารถสื่อสารได้อย่างดี

รองศาสตราจารย์ ดร. พินิติ ได้พูดถึงการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ว่า ทุกๆ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้เตรียมรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนของตนเรียนรู้ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ของประเทศในอาเซียน ในส่วนของประเทศไทยได้มีการสอนนักเรียนนักศึกษาเกี่ยวกับคุณลักษณะ วัฒนธรรม ธงชาติและชุดแต่งกายประจำชาติต่างๆ แต่จริงๆ แล้วควรจะสอนเรื่องภาษาเพื่อให้สามารถเรียนรู้ในเชิงลึกมากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าใจวัฒนธรรม พฤติกรรมและทัศนคติอย่างลึกซึ้ง เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจเพื่อให้เกิดมิตรภาพที่ยั่งยืนต่อไป

จากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร. พินิติ ได้พูดถึงประโยชน์ของการรู้ภาษาต่างประเทศว่า ประการที่ 1 การพูดภาษาได้มากกว่า 1 ภาษาจะช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ การแก้ไขปัญหา ความคิดสร้างสรรค์และความจำ เป็นการกระตุ้นสมองของเรา ซึ่งผลการวิจัยของ the American Academy of Neurology พบว่า ผู้ที่พูดได้มากกว่า 1 ภาษา สามารถเพิ่มจำนวนเส้นประสาทของสมอง ทำให้เพิ่มช่องทางกระบวนการรวบรวมข้อมูลของสมอง ที่สำคัญเป็นการเพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหา มีความคิดที่เป็นระบบและการเรียนรู้คำศัพท์หรือวลีใหม่เพิ่มขึ้น ประการที่ 2 การรู้ภาษาที่สองเป็นการขยายโอกาสทางด้านวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน ทักษะภาษาอังกฤษเป็นคุณสมบัติสำคัญของการสมัครงาน ผู้นำหรือผู้บริหารจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงข้อมูล สามารถวิเคราะห์และแปลความหมายได้ ความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากเราสามารถสื่อสารและติดต่อผู้คนต่างวัฒนธรรมได้ จะทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีโอกาสในการทำงานกับองค์กรนานาชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชีพหมอ ทนายความ นักการศึกษาและนักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ประการที่ 3 การรู้ภาษาอื่นๆ ทำให้ชีวิตดีขึ้น ประโยชน์ของการเรียนรู้ภาษาทำให้เราเรียนรู้ความแตกต่างและรากเหง้าของวัฒนธรรม ทัศนคติและพฤติกรรมของคนชาตินั้นๆ โลกในศตวรรษที่ 21 ต้องการคนที่มีความรู้ครอบคลุมทั่วโลก การติดต่อกับผู้คนต่างวัฒนธรรมเป็นการเพิ่มโอกาสในอาชีพ ขณะเดียวกันภาษาทำให้เราเรียนรู้ความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติและคุณค่าทางวัฒนธรรมได้อย่างลึกซึ้ง และภาษายังช่วยให้เรารักษาประวัติศาสตร์และประเพณีต่างๆ ผ่านการพูดที่เข้าใจความหมายร่วมกันของผู้พูด รวมทั้งการอธิบายความและหนังสือตำราต่างๆ

ในตอนท้าย รองศาสตราจารย์ ดร. พินิติ ได้บอกเล่าประสบการณ์การทำงานด้านการศึกษาร่วมกับนักวิชาการ ASEAN University Network (AUN) เป็นเวลากว่า 10 ปี ว่า ช่วงเวลาที่ทำงานกับนักการศึกษาต่างชาติ ทำให้เห็นความสำคัญของภาษาต่างประเทศเพราะเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม ทัศนคติและวิถีการทำงานและวิถีชีวิตของคนชาตินั้นๆ อย่างลึกซึ้ง ขณะเดียวกันทำให้เกิดมิตรภาพที่ยั่งยืน ดังนั้น เวลาเดินทางไปต่างประเทศจะรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้สื่อสารกับผู้คนต่างวัฒนธรรมและได้เรียนรู้จากผู้คนเหล่านั้น เป็นการเปิดโลกทัศน์และเรียนรู้สิ่งใหม่ พร้อมเพิ่มประสบการณ์ชีวิตอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีปาฐกถาพิเศษของนักวิชาการอีก 3 ท่าน คือ ดร.อุทัย ดุลยเกษม นักการศึกษาผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทย หัวเรื่อง Learning through Foreign Languages in the Context of ASEAN ซึ่งมีใจความสำคัญว่า 1) ต้องรู้จักประเทศเพื่อนบ้านและวัฒนธรรมของเขา 2) ทำไมต้องรู้จักประเทศเพื่อนบ้านของเรา และ 3) เราจะทำอย่างไรให้สิ่งนี้เป็นความจริงขึ้นมา ในการประชุมสัมมนาครั้งนี้มีวิทยากรรับเชิญสองท่านจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ รองศาสตราจารย์ สุชาดา นิมมานนิตย์ ในเรื่อง Fostering the 21st Century Competencies by Using Case Studies ได้ให้ความคิดเห็นว่า ในการเรียนการสอน สิ่งที่สำคัญคือ ความหมายที่ต้องการสื่อสารแลกเปลี่ยน เพราะฉะนั้นความสามารถในการสื่อสารความหมายจึงเป็นสิ่งที่ผู้สอนทุกคนควรใส่ใจมากกว่าการสอนให้ผู้เรียนเข้าใจโครงสร้างทางไวยากรณ์เพียงอย่างเดียว และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. คารินา โชติรวี ได้กล่าวปาฐกถา เรื่อง Weaving Text (ile) of Diversity : Gender, Tradition and Modernization in Southeast Asian Literature สรุปว่า ความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรม สามารถเรียนรู้ได้ชัดเจนจาก งานวรรณกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสั้นต่างๆ จะช่วยให้เข้าใจความแตกต่างได้ งานวรรณกรรมของทุกประเทศชี้ให้เห็นสภาพของสังคมในยุคนั้นๆ

อนึ่ง การประชุมวิชาการนานาชาติ Symposium of International Languages and Knowledge (SILK) ครั้งที่ 2 นี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย Universiti Malaysia Perlis (UniMAP) และ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษา นักวิจัย นักการศึกษา นักวิชาการ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญทั้งในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก ได้มีโอกาสร่วมแสดงความคิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ในด้านภาษาในวงวิชาการได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ภายใต้แนวคิดพื้นฐานที่ว่า " Unity through Diversity " โดยในปีนี้ มีผู้สนใจส่งบทคัดย่อเข้าร่วมกว่า 60 ชิ้นงาน ทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษ ภาษามาเลย์ ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาเวียดนาม และภาษาจีนจากประเทศต่างๆ อาทิเช่น ไทย มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย เวียดนาม อุซเบกิสถาน เป็นต้น
 

สมพร อิสรไกรศีล ข่าว
ธีรพงศ์ หนูปลอด ภาพ