Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มวล. จัด “วลัยลักษณ์วิจัย”ระดับชาติ ครั้งที่ 7 ชูแนวคิด Research for Digital Economy

อัพเดท : 26/06/2558

2227

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.)จัดประชุมวิชาการระดับชาติ วลัยลักษณ์วิจัย ครั้งที่ 7 ชูแนวคิด Research for Digital Economy โดยมีนักวิชาการจากทั่วประเทศร่วมนำเสนอบทความรวมกว่า 200 บทความ

ดร.เลิศชาย ศิริชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคม ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นหน่วยประสานงาน ร่วมกับ ชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เครือข่ายการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก สกอ. ภาคใต้ตอนบน และเครือข่ายการวิจัยภูมิภาค : ภาคใต้ จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 7 หัวข้อ Research for Digital Economy ในวันที่ 2 - 3 กรกฎาคม 2558 ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อเป็นเวทีสาธารณะด้านการวิจัยและวิชาการให้กับคณาจารย์ บุคลากร นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาและผู้สนใจ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำวิจัยร่วมกัน เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาต่อยอดงานวิจัยไปสู่ชุมชนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่เข้มแข็ง ยั่งยืน เป็นการตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง รวมถึงยกระดับคุณภาพผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์และนวัตกรรมในเวทีระดับชาติ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศต่อไป

การประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด บรรเจิดพงศ์ชัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เป็นผู้บรรยายเปิดการประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม 2558 ในหัวข้อ "Energy management systems and their applications to digital economy industry" นำเสนอเกี่ยวกับแนวโน้มการใช้พลังงานในประเทศไทย และบทบาทของระบบจัดการพลังงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร ในโรงงาน และในชุมชน

ในส่วนของการนำเสนอผลงานทางวิชาการ แบ่งเป็น 9 กลุ่มวิจัย ประกอบด้วย ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ด้านการจัดการ ด้านสหเวชศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้านพยาบาลศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ Symposium on Cancer Biology and Immunomodulation ด้านวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร Symposium on Informatics ด้านเกษตรศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร และด้านวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้ มีผู้ส่งผลงานแบบบรรยายและโปสเตอร์เข้าร่วมกว่า 200 บทความจาก 29 หน่วยงานและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ผนวกกับการสัมมนาวิชาการ “การพัฒนารูปแบบระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ” สัมมนาวิชาการ R2Q “ จากงานประจำ สู่ผลงานสร้างสรรค์” การเสวนาชุมชน...คนวิจัย “ร่วมขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” การเสวนา “ผลประโยชน์ของชาติทางทะเลกับจังหวัดนครศรีธรรมราช” และเวทีนำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัยของนักศึกษาผู้รับทุนอุดหนุนโครงการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนอันสืบเนื่องมาจากงานวิจัยด้วย

ข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์