Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อ.ดร.อุเทน ทับทรวง : การวิจัยและการเรียนการสอนต้องคู่กันและเอื้อประโยชน์ต่อกัน

อัพเดท : 01/07/2558

7328

อาจารย์ ดร.อุเทน ทับทรวง อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เชื่อว่า งานวิจัยมีส่วนสำคัญที่เอื้อประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและต้องทำควบคู่กัน เพราะการสอนนักศึกษานอกจากจะสอนโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการหรือตำราแล้ว ยังต้องนำประสบการณ์ที่ได้จากการวิจัยและการทดลองมาสอน เพื่อให้นักศึกษาเกิดกระบวนการคิดและแก้ปัญหาที่เป็นระบบ

อาจารย์ ดร.อุเทน เป็นชาวอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเคมี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร จากนั้นศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ที่วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากจบการศึกษาได้เข้าทำงานในตำแหน่งอาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557

อาจารย์ ดร.อุเทน มีความสนใจพัฒนาวัสดุที่มีรูพรุนในระดับนาโนเมตร ซึ่งเป็นวัสดุที่มีพื้นที่ผิวและมีปริมาตรรูพรุนสูง สามารถควบคุมขนาดของรูพรุนได้ น้ำหนักเบา ความหนาแน่นต่ำ ทำให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้หลากหลาย อาทิเช่น ตัวรองรับตัวเร่งปฏิกิริยา ขั้วสำหรับเซลล์เชื้อเพลิง/แบตเตอรี่/ตัวเก็บประจุยิ่งยวด ตัวดูดซับสำหรับกระบวนการบำบัดอากาศหรือน้ำเสีย ตัวตรวจวัด(Sensor) เยื่อเลือกผ่านสำหรับการะบวนการแยก ฯลฯ โดยมีแรงจูงใจจากการทำงานวิจัยขณะที่ศึกษาระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับการสังเคราะห์และการพิสูจน์คุณลักษณะของพอลิเบนซอกซาซีน คาร์บอนที่มีรูพรุนในระดับนาโนเมตรจากพอลีเบนซอกซาซีน และซีโอไลท์ที่มีขนาดอนุภาคในระดับนาโนเมตร ทำให้มีผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่เป็นชื่อแรก จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่อง Novel template confinement derived from polybenzoxazine-based carbon xerogels for synthesis of ZSM-5 nanoparticles via microwave irradiation ตีพิมพ์ในวารสาร Microporous and Mesoporous Materials ซึ่งมี Impact factor (2011) = 3.285 เรื่อง Improvement in the pore structure of polybenzoxazine-based carbon xerogels through a silica templating method ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Porous Materials ซึ่งมี Impact factor (2012) = 1.348 และเรื่อง Self-formation of 3D interconnected macroporous carbon xerogels derived from polybenzoxazine by selective solvent during the sol-gel process ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Materials Science ซึ่งมี Impact factor (2012) = 2.163 และอยู่ระหว่างขั้นตอนการตีพิมพ์อีกหนึ่งเรื่องคือ Advanced and economical ambient drying method for controlled mesopore polybenzoxazine-based carbon xerogels: Effects of non-ionic and cationic surfactant on porous structure ในวารสาร Journal of Colloid and Interface Science ซึ่งมี Impact factor (2014) = 3.368

นอกจากนี้ อาจารย์ ดร.อุเทน ยังมีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยในที่ประชุมวิชาการนานาชาติทั้งแบบโปสเตอร์และแบบปากเปล่า อาทิเช่น ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา (ปี 2010, แบบโปสเตอร์) ประเทศอิตาลี (ปี 2012, แบบปากเปล่า) ประเทศเกาหลีใต้ (ปี 2012, แบบปากเปล่า) ประเทศญี่ปุ่น (ปี 2012, แบบโปสเตอร์) และที่กรุงเทพมหานคร 2 ครั้ง ทั้งแบบปากเปล่าและโปสเตอร์ ปัจจุบันมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการนานาชาติ เรื่อง “Highly Sensitive Room Temperature Organic Vapor Sensor based on Polybenzoxazine-derived Carbon Aerogel Thin Film Composite” ในวารสาร Materials Science and Engineering: B ซึ่งมี Impact factor (2014) 2.169

อีกบทบาทหนึ่งของ อาจารย์ ดร.อุเทน ในฐานะที่เป็นนักวิจัยของศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาวัสดุหรือการใช้ประโยชน์จากไม้และเซลลูโลส โดยอ้างอิงบนพื้นฐานความรู้และความเชี่ยวชาญที่มี เพื่อนำไปต่อยอดการใช้ประโยชน์ โดยงานวิจัยที่สนใจคือการพัฒนาเซลลูโลสเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ทางด้านการกักเก็บพลังงาน อาทิเช่น การกักเก็บพลังงานไฟฟ้าหรือการกักเก็บเชื้อเพลิงต่าง ๆ เช่น ไฮโดรเจน หรือมีเทน เป็นต้น รวมถึงการนำมาประยุกต์ใช้ทางด้านการบำบัดมลพิษทางอากาศและทางน้ำ เช่น การกำจัดโลหะหนักในน้ำเสีย หรือการดูดซับแก้สคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการประยุกต์ใช้เซลลูโลสสำหรับเซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นหัวข้อที่กำลังเป็นที่สนใจในสังคมปัจจุบัน ทั้งภาวะโลกร้อนจากแก๊สเรือนกระจก มลภาวะทางน้ำ หรือแม้กระทั่งความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

ที่สำคัญพลังงานจากฟอสซิล(น้ำมัน) มีน้อยลงทุกวันและมีราคาสูงขึ้น มนุษย์จึงพยายามหาแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่เพื่อนำมาใช้ทดแทนน้ำมัน ซึ่งเซลล์เชื้อเพลิงคือหนึ่งในพลังงานทางเลือก ที่บริษัทผลิตรถยนต์ค่ายต่าง ๆได้มีการพัฒนารถยนต์ที่ไม่ใช้น้ำมัน อาทิเช่น รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ อาจารย์ ดร.อุเทน จึงเกิดความสนใจทางด้านการพัฒนาวัสดุที่มีขนาดอนุภาคในระดับนาโนเมตรอย่างเช่น core/shell nanoparticles เพื่อใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับเซลล์เชื้อเพลิงที่ใช้ในรถยนต์ ซึ่งจะทำให้เซลล์เชื้อเพลิงที่ได้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีแนวคิดที่จะนำวัสดุที่มีรูพรุนในระดับนาโนเมตรมาประยุกต์ใช้เป็นตัวตรวจวัดแก๊ส (Gas Sensor) สำหรับอุตสาหกรรมอีกด้วย เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น

แม้ว่าไม่เคยมีประสบการณ์ทางด้านการสอนมาก่อน แต่ อ.ดร.อุเทน มองว่าครูหรืออาจารย์นั้นมีมิติที่มากกว่าคำว่าสอน เพราะคนที่เป็นครู/อาจารย์คือคนที่จะช่วยทำให้ลูกศิษย์มีพัฒนาการทั้งทางด้านวิชาการ สังคม ความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ และคุณธรรมจริยธรรม ดังนั้น การสอนนักศึกษานอกจากจะสอนโดยอ้างอิงจากหลักวิชาการหรือตำราแล้ว การอธิบายพื้นฐานให้นักศึกษาเข้าใจก่อนที่จะเจาะลึกลงไปในรายละเอียดที่ประยุกต์มากขึ้นเป็นเรื่องจำเป็น ที่สำคัญนักศึกษาแต่ละคนมีพื้นฐานที่ต่างกัน คนเป็นครูจึงต้องรู้จักพื้นฐานนักศึกษาแต่ละคนเพื่อที่จะสอนหรืออธิบายด้วยวิธีและเทคนิคที่ต่างกันเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจในบทเรียนนั้น ๆ

ขณะเดียวกัน งานวิจัยก็มีส่วนสำคัญที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการเรียนการสอน เพราะเป็นประสบการณ์ตรงที่สามารถนำมาสอนนักศึกษาได้ทั้งกระบวนการคิด สิ่งที่เกิดขึ้นจริง กระบวนการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทดลอง และแนวทางการแก้ปัญหา ดังนั้น อ.ดร.อุเทน จึงเชื่อมั่นว่า การวิจัยและการเรียนการสอนเป็นสิ่งที่ต้องมาคู่กันและเอื้อประโยชน์ต่อกัน นั่นหมายความว่าครู/อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นทั้งครูและนักวิจัยเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อนักศึกษา นอกจากนี้ ยังมีมุมมองด้านการสอนว่า เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เราถ่ายทอดสิ่งที่รู้ให้กับนักศึกษา บางครั้งนักศึกษาก็สะท้อนบางแง่มุมที่เราอาจจะคาดไม่ถึงกลับมา ทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้งสองฝ่าย

อ.ดร.อุเทน ทับทรวง ได้บอกถึงเป้าหมายในอนาคตในตอนท้ายว่า ต้องการเป็นครูที่ดี ถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาเพียบพร้อมไปด้วยความรู้ทางด้านวิชาการและคุณธรรมจริยธรรมรวมไปถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ ขณะเดียวกันจะมุ่งมั่นพัฒนาด้านการสอนให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนการวิจัยนั้นมีเป้าหมายที่จะทำงานวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้จริงในชุมชมหรือสังคม รวมทั้งสามารถนำผลงานวิจัยไปเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติได้

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์ เรียบเรียง