Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

Work-Based Learning ทฤษฎีบวกการปฏิบัติงานจริงสร้างศักยภาพการทำงานของนักศึกษาการจัดการ

อัพเดท : 15/10/2558

18057

จากโมเดล The Learning Pyramid ที่ปรับจาก National Training Laboratories, Bethel, Maine ที่ว่า หากเป็นการเรียนรู้ในห้องเรียนโดยฟังครูบรรยายเพียงอย่างเดียว นักเรียนจะจดจำเนื้อหาได้เพียง 5% แต่ถ้ามีการสาธิตให้ดูด้วยจะจดจำได้ 30% ขณะที่การเรียนในรูปแบบการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จะจดจำได้ 50% ถ้าได้ปฏิบัติงานจริงจะจดจำและเข้าใจเนื้องานได้ 75% และที่สุดแล้วหากผู้เรียนสามารถสอนผู้อื่นได้ การเรียนรู้นั้นจะประสบความสำเร็จถึง 90% จึงทำให้สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เกิดแนวคิดในการนำวิธีการเรียนแบบ Work-Based Learning (WBL) มาใช้ โดยได้เริ่มนำร่องในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นหลักสูตรแรก

วิธีการเรียนแบบ Work-Based Learning (WBL) คือ การเรียนรู้โดยการใช้การทำงานเป็นฐาน ซึ่งมี สัดส่วนการทำงานในสถานประกอบการเสมือนพนักงานจริง มากกว่าการเรียนในรูปแบบปกติที่เวลาส่วนใหญ่จะอยู่ในห้องเรียนของสถาบันการศึกษา โดยเป็นการผสมผสานระหว่างภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเข้าด้วยกัน นั่นคือ ความรู้บวกประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ การวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ที่สำคัญการเรียนและการปฏิบัติงานจะต้องอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน จนสามารถสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานได้

รองศาสตราจารย์ ดร.สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์ คณบดีสำนักวิชาการจัดการ ได้เล่าถึงความเป็นมาของการจัดการเรียนการสอนแบบ Work-Based Learning หรือ WBL ว่า ทางสำนักวิชาการจัดการ โดยสาขาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้เห็นถึงความสำคัญที่จะเสริมสร้างประสบการณ์การทำงานให้แก่นักศึกษา เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพทั้งในเชิงวิชาการและสามารถปฏิบัติงานได้จริง โดยเน้นการเรียนทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติงาน ที่สำคัญ การบริการและการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอาชีพอิสระที่กำหนดไว้ในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน 10 ประเทศ ให้สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างกันได้ โดยจะมีผลบังคับใช้ในปลายปี 2558 ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความตื่นตัวต่อกระแสและผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยเฉพาะบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและการบริการ ซึ่งครอบคลุม 32 ตำแหน่งงานใน ธุรกิจที่พัก ภัตตาคาร และบริษัททัวร์ เป็นอย่างมาก

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมนักศึกษาเพื่อที่จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพสู่ตลาดแรงงานด้านการท่องเที่ยวและการบริการ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก สำนักวิชาการจัดการจึงนำหลักคิดที่ว่า “2 ปี ในมหาวิทยาลัย 2 ปี นอกมหาวิทยาลัย” มาใช้ในการบริหารจัดการหลักสูตร เริ่มจากนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และ 2 จะเรียนที่มหาวิทยาลัย ปีละ 2 ภาคการศึกษา และเข้าร่วมโครงการการเรียนภาษาอังกฤษในต่างประเทศและการใช้ชีวิตในต่างแดน (In-Country Program) และการเรียนแบบ WBL ครั้งที่ 1 อย่างละ 1 ภาคการศึกษา รวม 2 ภาคการศึกษา ส่วนปีที่ 3 และ 4 เรียนที่มหาวิทยาลัย ปีละ 1 ภาคการศึกษา และปฏิบัติงานสหกิจศึกษา 3 ภาคการศึกษา รวมกับการเรียนแบบ WBL ครั้งที่ 2 อีก 1 ภาคการศึกษา รวม 4 ภาคการศึกษา สรุปแล้วนักศึกษาจะใช้เวลาการเรียนรู้คู่การปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ ภายนอกมหาวิทยาลัย 6 ภาคการศึกษา หรือ 2 ปีการศึกษา

อาจารย์ศักดิ์ชัย ปิ่นเพ็ชร อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในฐานะหัวหน้าโครงการการเรียนรู้โดยการใช้การทำงานเป็นฐาน (Work-Based Learning หรือ WBL) เล่าเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า ก่อนที่นักศึกษาจะเข้าร่วมโครงการนั้น จะต้องเริ่มเตรียมความพร้อมของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในโครงการเรียนภาษาอังกฤษในต่างประเทศ (In-Country Program) ซึ่งเป็นการเรียนภาษาอังกฤษในต่างประเทศในภาคเรียนที่ 3 เป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา เพื่อเป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ทักษะภาษาต่างประเทศทั้งในห้องเรียนและการสื่อสารภาษาอังกฤษในระหว่างที่ใช้ชีวิตในต่างแดน เรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน รวมทั้งเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การจัดการเรียนการสอนดำเนินการโดย Malaysian Hospitality College ซึ่งเป็นเครือข่ายสถาบันการศึกษาด้านการท่องเที่ยวและการบริการแห่งประเทศมาเลเซีย จัดตั้งขึ้นภายใต้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านการท่องเที่ยวและการบริการ ภายใต้แนวคิดการจัดการเรียนการสอนระบบ WBL ซึ่งตั้งอยู่ ที่ Mines Resort City เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนและที่พักของนักศึกษา เนื่องด้วยสถานที่ตั้งและสิ่งอำนวยความสะดวกมีความสอดคล้องกับเนื้อหารายวิชาของหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

อาจารย์ศักดิ์ชัย เล่าต่อว่า เมื่อจบโครงการเรียนภาษาอังกฤษในต่างประเทศ (In-Country Program) จำนวน 3 รายวิชาและวิชาในหมวดพื้นฐานวิชาชีพ จำนวน 1 วิชา แล้ว นักศึกษาจะมีความพร้อมในระดับหนึ่งที่สามารถก้าวไปสู่การเรียนรู้ในโครงการ WBL ที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 1 ภาคการศึกษา รวม 4 เดือน ซึ่งประกอบด้วย การเรียนวิชาชีพพื้นฐาน วิชาชีพบังคับ และวิชาชีพเลือกตามความสนใจจาก 4 กลุ่มวิชาชีพ คือ ธุรกิจจัดนำเที่ยวและการเดินทาง การจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว ธุรกิจที่พัก รีสอร์ทและสปา และ ธุรกิจครัวและภัตตาคาร ในชั้นปีที่ 2 ภาคการศึกษาที่ 2 นักศึกษาจะได้เรียนภาคทฤษฎีพร้อมกับการเรียนรู้จากห้องเรียนแห่งความเป็นจริงในช่วงครึ่งเดือนแรก โดยศึกษาทฤษฎีและเรียนรู้จากการสาธิต และศึกษาดูงานในสถานที่จริง โดยมีอาจารย์ร่วมสอน 2 คน คือ อาจารย์ด้านวิชาการจากสำนักวิชาการจัดการและอาจารย์ด้านวิชาชีพ ซึ่งคือผู้ประกอบการจริงในสายวิชาชีพที่นักศึกษาแต่ละคนเลือกนั่นเอง จากนั้นนักศึกษาแต่ละคนจะออกปฏิบัติงานจริงในสายวิชาชีพที่เลือกประมาณ 3 เดือนครึ่ง ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการในฐานะเสมือนพนักงาน หากเกิดปัญหาขณะปฏิบัติงานก็ต้องหาทางแก้ไขเพื่อผลดีต่อองค์กรที่ปฏิบัติงาน ระหว่างการปฏิบัติงานจะเป็นการเรียนรู้ตั้งแต่ตำแหน่งงานระดับล่างในสัปดาห์แรกไปจนถึงตำแหน่งเสมือนหัวหน้างานในช่วงสัปดาห์ท้าย โดยมีการรวมกลุ่มกันในวิชาชีพที่เลือกเพื่อทำ Workshop เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในสถานประกอบการของตนเอง สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันเกี่ยวกับวิชาชีพ ที่แต่ละคนเลือกและปฏิบัติงานจริง

เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 3 นักศึกษาจะปฏิบัติงานสหกิจศึกษาในภาคการศึกษาที่ 2 และการเรียนแบบ WBL ครั้งที่ 2 ในภาคการศึกษาที่ 3 เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้งานอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นพร้อมกับเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ขณะเดียวกัน หากนักศึกษาได้ค้นพบตนเองในช่วงการเรียนแบบ WBL ครั้งที่ 1 ว่า ไม่ใช่วิชาชีพที่ตนเองชอบก็เป็นโอกาสอันดีที่จะเรียนรู้ในวิชาชีพใหม่ที่ตนค้นพบ จากนั้นในชั้นปีที่ 4 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย ในภาคการศึกษาที่ 1 นักศึกษาจะปฏิบัติงานสหกิจศึกษา ครั้งที่ 2 ที่อำเภอเกาะสมุย และในภาคการศึกษาที่ 3 ซึ่งเป็นภาคการศึกษาสุดท้าย จะเป็นการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา ครั้งที่ 3 ในสถานประกอบการที่นักศึกษาสนใจ ซึ่งในภาคการศึกษาที่ 3 นี้ สถานประกอบการส่วนใหญ่ ในอำเภอเกาะสมุย ยินดีรับนักศึกษากลุ่มนี้เข้าทำงานในฐานะพนักงานทดลองงาน ซึ่งหมายความว่านักศึกษาสามารถได้งานก่อนจบการศึกษา 1 ภาคการศึกษา ด้วย

ด้านการประเมินผลโครงการ WBL อาจารย์ศักดิ์ชัย เล่าว่า มีด้วยกัน 3 ส่วน คือ การสอบภาคทฤษฎีในลักษณะข้อเขียน เมื่อจบการเรียนภาคทฤษฎีและการสาธิต การทดสอบย่อยระหว่างการนำเสนอและการอภิปรายกลุ่ม (Workshop) และการประเมินจากทักษะการทำงานและการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์จริง ระหว่างการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ โดยหัวหน้างานของสถานประกอบการ เมื่อสิ้นสุดโครงการ

รองศาสตราจารย์ ดร.สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์ คณบดีสำนักวิชาการจัดการ เล่าถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนว่า การเรียนโดยใช้การทำงานเป็นฐาน (Work-Based Learning) 2 ภาคการศึกษา ทำให้นักศึกษารู้ลึก รู้จริง รู้เรื่องที่ทันสมัยในธุรกิจช่วงเวลานั้นๆ รวมทั้งเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงและรับทราบข้อมูลความรู้ที่เป็นปัจจุบันตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้ทำให้ การเรียนโดยใช้การทำงานเป็นฐาน (Work-Based Learning) ของสำนักวิชาการจัดการ ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการจากสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนด้านการท่องเที่ยวและการบริการในประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมันนี โดยยอมรับให้เป็น Best Practice ของประเทศไทยจาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ด้วย

กรกช เภ่าเวช นักศึกษาสาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ได้เล่าให้ฟังว่า การเรียนรู้ทั้ง 3 รูปแบบ คือ In- Country Program, WBL และ สหกิจศึกษา เป็นการเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ที่จับต้องได้จริง สามารถนำไปต่อยอดทางการศึกษาได้ลึกซึ้งและนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง เป็นโลกแห่งการเรียนรู้และการแข่งขันในสังคมการทำงาน ได้รู้ตัวตนของตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ช่วยให้ปรับเปลี่ยนและสามารถพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังส่งเสริมให้มีความรู้ความสามารถหลากหลายด้านในสายอาชีพที่เลือกเรียน ที่สำคัญทำให้มีความพร้อมมากกว่านักศึกษาที่เรียนรูปแบบปกติทั่วไป คิดว่า วิธีการเรียนและประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานในลักษณะนี้น่าจะเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดีๆเหล่านี้ จะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อสร้างโอกาสให้นักศึกษาเข้าสู่โลกของอาชีพได้อย่างเข้มแข็ง






ฐิติพงศ์ นะตะพันธ์ นักศึกษาสาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน เล่าว่า การเรียนแบบ In-country Program เป็นการเรียนรู้และใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมและบริบทของภาษาในชีวิตประจำวัน ซึ่งช่วยให้พัฒนาภาษาได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันทำให้มีความคิดและมุมมองใหม่มากขึ้น ประสบการณ์ในต่างแดน ต่างบ้าน ต่างผู้คน ท้าทายให้กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงหรือละทิ้งความคิดเดิมๆ ได้ และพร้อมที่จะรับรู้กับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ส่วน WBL และ สหกิจศึกษา ทำให้เข้าใจเนื้องานและเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้กับตัวเอง ได้ปฏิบัติงานเสมือนพนักงานจริง ทุกครั้งที่เจอปัญหาก็ต้องแก้ไขปัญหานั้นด้วยตัวเอง เป็นชีวิตจริงที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้จากในห้องเรียน การทำ Workshop ทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆทั้งจากเพื่อนๆและอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน ทำให้เข้าใจเนื้องานได้ดี และสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้เหล่านั้นไปพัฒนางานได้ดีขึ้น ซึ่งวัดได้จากการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งถัดไปได้ด้วยตัวเองอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ จนได้รับคำชมจากพี่ๆ และหัวหน้างาน

“ปัจจุบันทุกหลักสูตรของสำนักวิชาการจัดการอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ Work-Based Learning (WBL) เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่า นักศึกษาจะสามารถเรียนรู้ความชอบในวิชาชีพของตน ศึกษาอย่างลึกซึ้ง พร้อมมีโอกาสปฏิบัติงานจริงควบคู่ไปกับการเรียนรู้ภาคทฤษฎี เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนที่จะก้าวสู่โลกของการทำงานอย่างแท้จริง” คณบดีสำนักวิชาการจัดการ กล่าวในตอนท้าย

สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง