Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มวล.จับมือ สสส.จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ภูมิปัญญาการรักษาสุขภาวะชุมชนด้วยสมุนไพรในภาคใต้”

28/10/2558

4013

อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ภูมิปัญญาการรักษาสุขภาวะชุมชนด้วยสมุนไพรในภาคใต้” โดยเชิญปราชญ์ชาวบ้านซึ่งเป็นหมอพื้นบ้านด้านภูมิปัญญาสมุนไพร ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้แก่ผู้เข้าร่วมกว่า 120 คน เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ดร.สุเมธ แย้มนุ่น รักษาการแทนอธิการบดีม.วลัยลักษณ์ กล่าวในพิธีเปิดงานดังกล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้บทบาทของหมอพื้นบ้านลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมีความรู้ของการแพทย์สมัยใหม่เข้ามา คนรุ่นใหม่ไม่เห็นความสำคัญของคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาจึงได้ศึกษาสถานภาพองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นของหมอพื้นบ้าน เพื่อรวบรวบภูมิรู้จากปราชญ์หมอพื้นบ้าน และเชิดชูเกียรติ กระตุ้นให้สังคมได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทในการดูแลสุขภาพอนามัยจากภูมิปัญญาท้องถิ่น การป้องกันและรักษาโรคให้กับคนในชุมชนแบบพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งการจัดโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาภาคใต้ “ภูมิปัญญาการรักษาสุขภาวะชุมชนด้วยสมุนไพรในภาคใต้” ถือเป็นกิจกรรมที่สรรค์สร้างคุณค่ามรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่มีองค์ความรู้ด้านการรักษาสุขภาพด้วยพืชสมุนไพร และจะเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ด้านการรักษาสุขภาพด้วยพืชสมุนไพรในพื้นที่ภาคใต้ไว้อย่างเป็นระบบหมวดหมู่ และนำไปสู่การเผยแพร่ในฐานข้อมูลหรือสื่อสารสนเทศแก่สังคมวงกว้าง สร้างทัศนคติที่ดีด้านการรักษาสุขภาวะชุมชนด้วยสมุนไพร และก่อให้เกิดการนำมรดกภูมิปัญญาดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อการดูและรักษาสุขภาพของชุมชนได้อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น
 

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ม.วลัยลักษณ์ กล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากคณาจารย์ นักศึกษาจากสำนักวิชาศิลปศาสตร์ และสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ ร่วมกันดำเนินการลงพื้นที่ศึกษาปราชญ์ภูมิปัญญาสมุนไพรในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมือง ท่าศาลา พรหมคีรีและร่อนพิบูลย์ โดยการจัดเวทีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อนำประเด็นต่างๆจากการลงพื้นที่ภาคสนามร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่น ปราชญ์ชาวบ้านด้านภูมิปัญญาสมุนไพร อาทิ การรักษาพิษงู การรักษาโรคกระดูก และการรักษาโรคทั่วไป โดยมี อสม. สาธารณสุขอำเภอและสาธารณสุขจังหวัดในเขตพื้นที่ภาคใต้ ตลอดจนนักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมประมาณ 120 คน

ข่าวและภาพโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์