Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ พันธ์สวัสดิ์ ศึกษาพยาธิกำเนิดของมาลาเรียขึ้นสมองและภาวะปอดบวมน้ำ

อัพเดท : 30/12/2558

10576

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ พันธ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมกับรองศาสตราจารย์ ดร.พญ.พรรณเพ็ญ วิริยเวชกุล สังกัดภาควิชาพยาธิวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาพยาธิกำเนิดของมาลาเรียขึ้นสมองและภาวะปอดบวมน้ำในผู้ป่วยโรคมาลาเรียฟัลซิพารัมชนิดรุนแรง พบว่า พยาธิกำเนิดของมาลาเรียขึ้นสมองเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นการทำงานของโปรตีน NF-B p65 โดยเชื้อมาลาเรียซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์ในสมอง ส่วนภาวะปอดบวมน้ำในผู้ป่วยมาลาเรียมีสาเหตุจากการตายของเซลล์ในปอดแบบอะพอพโทซิสผ่านวิถีภายนอก หรือวิถีตัวรับการตาย (extrinsic pathway หรือ death receptor pathway) ซึ่งเกิดจากการจับของลิแกนด์ (death ligands) จากภายนอกเซลล์ เริ่มจากการจับกันของ Fas และ Fas ligand ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ caspase-8 และ caspase-3 และมีผลให้เกิดการตายแบบอะพอพโตซิสของเซลล์และนำไปสู่ภาวะปอดบวมน้ำ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ เล่าว่า โรคมาลาเรียเกิดจากเชื้อโปรโตซัว ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียวในจีนัส พลาสโมเดียม (Plasmodium) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด ปัจจุปันพบเพียง 5 ชนิดที่ก่อโรคในคน ได้แก่ พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม (Plasmodium falciparum) พลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ (P. vivax) พลาสโมเดียม มาลาริอี่ (P. malariae) พลาสโมเดียม โอวาเล่ (P. ovale) และชนิดสุดท้ายคือ พลาสโมเดียม โนวไซ (P. knowlesi) ซึ่งเดิมเป็นเชื้อก่อโรคมาลาเรียที่พบในลิงแสมและลิงกัง โรคมาลาเรียหรือไข้จับสั่นถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศต่างๆ ในแถบแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในส่วนของประเทศไทยพบมากในแถบชายแดนที่มีป่าเขาหนาแน่น ได้แก่ บริเวณรอยต่อชายแดนไทย-พม่า ชายแดนไทย-กัมพูชา ชายแดนไทย-ลาว และทางภาคใต้ของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดระนอง ปัตตานี ยะลา และสงขลา โดยองค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ประเมินว่า ในปี 2556 มีผู้ป่วยจากโรคมาลาเรีย 198 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรีย จำนวน 584,000 คน ทั่วโลก

โรคมาลาเรียสามารถติดต่อได้โดยการถูกยุงกัด ซึ่งยุงที่เป็นพาหะนำโรคคือ ยุงก้นปล่องเพศเมีย (female Anopheles spp.) ที่เรียกอย่างนี้เนื่องจากเวลาที่ยุงก้นปล่องกัดคน มันจะเกาะโดยยกส่วนท้องขึ้นทำมุมกับผิวหนัง 45 องศา ซึ่งเชื้อที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชนิด พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม (P. falciparum) และ พลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ (P. ovale) โดยมาลาเรียชนิดรุนแรงเกิดจากเชื้อพลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม (P. falciparum) มีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน และใช้เวลาในการแบ่งตัว 42-48 ชั่วโมง เมื่อเชื้อนี้เข้าสู่กระแสเลือดจะลงไปสู่ตับ จากนั้นเข้าสู่เม็ดเลือดแดง เมื่อเม็ดเลือดแดงแตกออกเชื้อจำนวนมากก็จะถูกแพร่เข้าสู่กระแสเลือดไปสู่เม็ดเลือดแดงใหม่ต่อไป ทั้งนี้เม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อเมื่ออยู่ในกระแสเลือดจะไปเกาะติดที่ผนังเซลล์หลอดเลือดขนาดเล็ก ก่อให้เกิดการอุดตันทำให้เลือดและออกซิเจนไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ไตวาย ตับวาย ปอดบวมน้ำ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และมาลาเรียขึ้นสมอง เป็นต้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ เล่าต่อว่า ปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับพยาธิวิทยาของสมองและปอดของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียยังมีไม่มากนักและไม่ได้เป็นการศึกษาในเชิงลึก ทั้งยังไม่ทราบพยาธิกำเนิดที่แน่ชัดของการเกิดมาลาเรียขึ้นสมองและภาวะปอดบวมน้ำในผู้ป่วยโรคมาลาเรียฟัลซิพารัมชนิดรุนแรง ดังนั้น จึงได้ทำงานวิจัยร่วมกับรองศาสตราจารย์ ดร.พญ.พรรณเพ็ญ วิริยเวชกุล จากภาควิชาพยาธิวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาพยาธิกำเนิดของมาลาเรียขึ้นสมองและภาวะปอดบวมน้ำในผู้ป่วยโรคมาลาเรียฟัลซิพารัมชนิดรุนแรง โดยเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับระบบประสาทและระบบหายใจ ซึ่งภาวะดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

ผลจากการวิจัยพบว่า เซลล์ประสาท เซลล์ค้ำจุนประสาท เซลล์บุผนังหลอดเลือด และเซลล์เม็ดเลือดขาว ในเนื้อสมองของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากมาลาเรียขึ้นสมอง มีการกระตุ้นและการแสดงออกของโปรตีน NF-B p65 เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสมองผู้ป่วยที่ไม่ได้เสียชีวิตจากมาลาเรียขึ้นสมองและกลุ่มชิ้นเนื้อสมองปกติ นอกจากนี้ยังพบดัชนีการตายและการแสดงออกของโปรตีน NF-B p65 ในนิวเคลียสของเซลล์เม็ดเลือดขาว และเซลล์บุผนังหลอดเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับสมองผู้ป่วยที่ไม่ได้เสียชีวิตจากมาลาเรียขึ้นสมองและกลุ่มชิ้นเนื้อสมองปกติ ซึ่งทำให้เข้าใจถึงสมมติฐานหนึ่งของพยาธิกำเนิดของมาลาเรียขึ้นสมองว่าสามารถเกิดจากการกระตุ้นการทำงานของโปรตีน NF-B p65 โดยเชื้อมาลาเรียซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์ในสมอง จนเกิดมีอาการรุนแรงต่างๆ ตามมา

ผลการศึกษาชิ้นเนื้อสมองของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมาลาเรีย ช่วยทำให้เข้าใจกลไกการเกิดโรคมาลาเรียขึ้นสมองเพิ่มมากขึ้น และทำให้ทราบว่าโปรตีน NF-B p65 เป็นโปรตีนที่ส่งสัญญาณเหนี่ยวนำให้เกิดกระบวนการตายของเซลล์บุผนังหลอดเลือด และเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในหลอดเลือดในชิ้นเนื้อสมอง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ กล่าวว่า จากผลงานวิจัยครั้งนี้จะมีการนำไปประยุกต์ทางด้านคลินิก เพื่อพัฒนายาที่จะช่วยยับยั้งการสร้างโปรตีน NF-B p65 โดยใช้ร่วมกับยาต้านมาลาเรียในปัจจุบัน เพื่อช่วยยับยั้งภาวะการตายของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย โดยคาดหวังว่าคนไข้ที่ติดเชื้อรุนแรงจะมีอาการดีขึ้น เป็นการลดอัตราการเสียชีวิตในที่สุด

ในส่วนของภาวะปอดบวมน้ำเป็นภาวะที่มีการคั่งของสารน้ำในถุงลมของเนื้อปอด ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซได้ตามปกติ ซึ่งเป็นอีกภาวะแทรกซ้อนหนึ่งที่สำคัญและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมาลาเรียฟัลซิพารัมชนิดรุนแรง พบอัตราการตายของผู้ป่วยมาลาเรียจากภาวะปอดบวมน้ำ ร้อยละ 85 โดยร้อยละ 20-30 ของผู้ป่วยมาลาเรียฟัลซิพารัมชนิดรุนแรงที่รักษาตัวอยู่ในห้องหออภิบาลผู้ป่วยหนักมีโอกาสพัฒนาไปสู่ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ดังนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ พร้อมด้วยทีมวิจัยจึงได้ตั้งสมมติฐานว่า การตายของเซลล์ในเนื้อเยื่อปอดน่าจะเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะปอดบวมในผู้ป่วยโรคมาลาเรีย จึงเป็นที่มาของการศึกษากลไกส่งสัญญาณการตายของเซลล์ในปอดของผู้ป่วยโรคมาลาเรียฟัลซิพารัมชนิดรุนแรง โดยได้รับทุนสนับสนุนโครงการวิจัยประเภทเพิ่มขีดความสามารถนักวิจัย จากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

จากผลการศึกษาพยาธิสภาพของปอดในโรคมาลาเรียฟัลซิพารัมชนิดรุนแรง พบสารน้ำอยู่ในถุงลม มีเลือดคั่งในหลอดเลือดฝอย และพบเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อมาลาเรียและเม็ดเลือดแดงปกติ รวมถึงพบนิวโทรฟิลและเซลล์แมคโครฟาจที่จับกิน malaria pigment ในถุงลม ทั้งยังได้ค้นพบว่า มีการแสดงออกของโปรตีน Fas และ Fas ligand เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปอดของกลุ่มผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียฟัลซิพารัมที่มีภาวะปอดบวมน้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียฟัลซิพารัมที่ไม่มีภาวะปอดบวมน้ำและกลุ่มชิ้นเนื้อปอดปกติ และพบมีการแสดงออกของเอนไซม์ caspase-8 และ caspase-3 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในชิ้นเนื้อปอดของกลุ่มผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียฟัลซิพารัมที่มีภาวะปอดบวมน้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียฟัลซิพารัมที่ไม่มีภาวะปอดบวมน้ำและกลุ่มชิ้นเนื้อปอดปกติ

จากการศึกษานี้สามารถสรุปได้ว่า กระบวนการตายของเซลล์ในปอดของผู้ป่วยโรคมาลาเรียฟัลซิพารัมชนิดรุนแรงเกิดจากการกระตุ้นผ่านการตายแบบวิถีภายนอก (Death receptor-induced extrinsic pathway) ซึ่งเกิดจากการจับกันของ Fas และ Fas ligand ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเอนไซม์ caspase-8 และ caspase-3 ภายในเซลล์และเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์ปอดซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะปอดบวมน้ำ ดังนั้นถ้าหากมีการคิดค้นหรือพัฒนายาที่สามารถยับยั้งการจับกันระหว่าง Fas และ Fas ligand ก็จะส่งผลให้ไม่เกิดการตายของเซลล์ในเนื้อเยื่อปอดและช่วยป้องกันการเกิดภาวะปอดบวมน้ำในผู้ป่วยโรคมาลาเรียฟัลซิพารัมชนิดรุนแรงได้

“ปัจจุบันทางทีมวิจัยยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาวิจัยด้านพยาธิวิทยาและพยาธิกำเนิดของโรคมาลาเรียฟัลซิพารัมชนิดรุนแรงในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ช่วยให้เข้าใจกลไกการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ในโรคมาลาเรียและนำมาประยุกต์ใช้ในทางด้านคลินิกสำหรับการเฝ้าระวัง และพัฒนาการรักษามาลาเรีย โดยเฉพาะการติดเชื้อมาลาเรียชนิดรุนแรง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมาลาเรียในอนาคต” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ พันธ์สวัสดิ์ กล่าวในตอนท้าย พร้อมฝากข้อมูลเกี่ยวกับป้องกันและการรักษาโรคมาลาเรียไว้สำหรับดูแลตนเอง ว่า “เมื่อจะเดินทางเข้าป่า หรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด พยายามใส่เสื้อผ้าที่ปิดมิดชิด และนอนในมุ้งหรือในบ้านที่มีมุ้งลวดเสมอ โดยปกติยุงก้นปล่องซึ่งนำเชื้อมาลาเรียจะออกหากินตอนกลางคืน ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวต้องเพิ่มความระมัดระวังเรื่องยุง อย่างไรก็ตามมาลาเรียเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการให้ยารักษามาลาเรีย ตามชนิดของเชื้อ ความรุนแรงของโรค และสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย”

 

สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง