Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

กิติยา สุเหม : นักศึกษา ป.เอก สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรกับประสบการณ์ทำวิจัยที่นิวซีแลนด์

01/02/2559

7400

นางสาวกิติยา สุเหม นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอุตสาหกรรมเกษตร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) รุ่นที่ 16 มีโอกาสไปทำงานวิจัยต่างประเทศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ ที่ School of Engineering and Advanced Technology, Institute of Food Science and Technology, Massey University ประเทศนิวซีแลนด์ ทำให้ได้เรียนรู้ระบบการพัฒนางานวิจัย ได้ฝึกคิดและพัฒนาศักยภาพงานด้านการวิจัย ที่สำคัญเป็นการเปิดโลกทัศน์ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์
 

 

 

นางสาวกิติยา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและโท สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เช่นเดียวกัน ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยกร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยกำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่อง Application of essential oils as antifungal agents on the surface of biodegradable cellulose based food packaging made from bamboo fiber
 

นางสาวกิติยา ได้รับทุนการศึกษาในโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) รุ่นที่ 16 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำให้มีโอกาสได้ไปทำงานวิจัยต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยระดับปริญญาเอก ที่ Massey University วิทยาเขต Palmerston North ประเทศนิวซีแลนด์ ภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม Professor Dr. John Bronlund
นางสาวกิติยา ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับ Massey University ว่า เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ตั้งอยู่บนเกาะเหนือของประเทศนิวซีแลนด์ มี 3 วิทยาเขต โดย Palmerston North เป็นวิทยาเขตที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุด บรรยากาศโดยทั่วไปของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เงียบสงบ เหมาะสำหรับการศึกษาหาความรู้ มีห้องสมุดขนาดใหญ่ทั้งที่ตั้งอยู่ภายในตัวมหาวิทยาลัยและในตัวเมือง Palmerston North มีอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถหลากหลายแขนงวิชา ซึ่งพร้อมให้ความรู้และร่วมอภิปรายงานกับนักศึกษา จึงทำให้มีนักศึกษาจากทั่วโลกต่างเลือกมาศึกษาที่ Massey University จำนวนมาก
 

ด้านอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย Professor Dr. John Bronlund นางสาวกิติยา เล่าว่า อาจารย์จะจัดสรรเวลาพูดคุย ให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับงานวิจัย สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง แต่หากมีปัญหาหรือข้อสงสัยที่เร่งด่วนก็สามารถขอพบอาจารย์ได้ตลอดเวลา นอกจากการดูแลเรื่องงานวิจัยแล้ว อาจารย์ยังห่วงใยเรื่องความเป็นอยู่ อาหารการกิน การเดินทาง สุขภาพ รวมถึงแนะนำเพื่อนนักศึกษาและอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขาให้รู้จัก ส่งผลให้สามารถทำงานวิจัยและดำเนินการทดลองได้ค่อนข้างเร็วภายใต้สภาพแวดล้อมของการทำงานที่สนุกและมีความสุข
 

นางสาวกิติยา เล่าให้ฟังถึงห้องปฏิบัติการที่ได้ไปทำวิจัยว่า มีการแยกประเภทเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการเรียนและการวิจัยไว้อย่างชัดเจน ห้องปฎิบัติการที่สำคัญ เช่น ห้องปฎิบัติการ Biochemical and Process Engineering ห้องปฎิบัติการ Clean Research และห้องปฎิบัติการ Bioprocessing ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์คอยดูแล ช่วยเตรียมอุปกรณ์และสารเคมีสำหรับวิชาเรียน ให้คำแนะนำนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หากนักศึกษาต้องการความช่วยเหลือ เช่น ต้องการสารเคมี เจ้าหน้าที่จะประสานให้ทันที หรือหากเครื่องมือที่กำลังใช้งานมีปัญหา เจ้าหน้าที่จะแก้ไขให้เครื่องมือกลับมาใช้งานได้ในทันที
 

ทั้งนี้ บางห้องปฎิบัติการมีระบบจำลองกระบวนการผลิตอาหารหรือเครื่องดื่มให้มีลักษณะที่คล้ายกับกระบวนการผลิตจริงในโรงงาน ทำให้ผู้วิจัยสามารถปฎิบัติการแบบ Large Scale ได้ เช่น ห้อง Microbrewery มีการจำลองระบบการผลิตเบียร์เหมือนกับโรงงานจริง มีการติดตั้งระบบควบคุมการบ่ม รวมถึงระบบตรวจสอบและควบคุมคุณภาพด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้ทราบผลของกระบวนการผลิตได้จริงก่อนที่จะไปปฏิบัติงานในโรงงาน อีกห้องที่น่าสนใจและนักศึกษาใช้งานมาก คือ ห้องปฎิบัติการ Clean Research ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่เข้มงวดเรื่องความสะอาดมากกว่าห้องปฏิบัติการอื่นๆ โดยมีอุปกรณ์เครื่องมือพิเศษ เช่น เครื่อง High-Performance Liquid Chromatography (HPLC) และ เครื่อง Gas Chromatography Mass Spectrometry (GC-MS) เป็นต้น
นอกจากนี้ Massey University ยังเปิดโอกาสให้นักวิจัยรวมถึงนักศึกษา ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบเครื่องมือและระบบวิจัยที่เหมาะสมต่องานวิจัย ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่จะเน้นการพัฒนาเครื่องมือด้วยนักวิจัยเอง ภายใต้กลุ่มวิจัยและศูนย์วิจัยที่เข้มแข็งโดยอ้างอิงจากองค์ความรู้พื้นฐานเพื่อนำไปสู่การทดลองที่สามารถพิสูจน์ได้ ดังนั้นเครื่องมือที่ใช้บางชนิดจึงไม่สามารถพบเห็นได้จากที่อื่น
 

การเข้าปฎิบัติงานวิจัยในห้องปฎิบัติการนั้น นักศึกษาทุกคนต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบด้านการรักษาความปลอดภัย มีการทำแบบทดสอบความรู้พื้นฐานความปลอดภัยในห้องปฎิบัติการก่อนจะได้รับอนุญาตให้เข้าใช้ห้อง มีระบบการควบคุมการผ่านเข้าออกระหว่างห้องปฎิบัติการ การควบคุมการเข้าถึงทรัพยากรส่วนรวมของมหาวิทยาลัย ด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ นักศึกษาทุกคนจะมีรหัสของตัวเองประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งมีบัตรสแกนสำหรับใช้พิมพ์งาน ส่วนระบบการขนส่ง นักศึกษาจะมีบัตรใช้สำหรับการขึ้นรถโดยสารโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
 

นางสาวกิติยา เล่าต่อว่า ตลอดระยะเวลา 6 เดือน ของการไปทำวิจัยที่ Massey University นั้น ทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่น การเรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศของประเทศนิวซีแลนด์ในช่วงฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 9 องศาเซลเซียส การเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกับชาวต่างชาติที่มาจากหลายประเทศ เช่น ชาวนิวซีแลนด์ ชาวจีน ชาวมาเลเซีย ชาวสเปน ชาวฝรั่งเศส ชาวชิลี และ ชาวสิงคโปร์ เป็นต้น รวมถึงได้เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวนิวซีแลนด์ ที่เป็นชนชาติที่มีน้ำใจ และเป็นมิตรกับทุกคน
 

“ที่สำคัญได้รับการพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารโดยใช้ภาษาอังกฤษ เนื่องจากต้องสื่อสารกับบุคคลต่างๆ ในห้องปฎิบัติการ เพื่อนชาวต่างชาติ และอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นประจำ ทั้งยังได้มีโอกาสไปนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบโปสเตอร์ที่งานประชุมวิชาการ NZIFST 50th Anniversary Conference 2015 ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม 2558 ที่เมือง Palmerston North ประเทศนิวซีแลนด์ โดยมีอาจารย์และนักศึกษาจากหลายประเทศเข้าร่วมประชุม ทำให้ได้รู้แนวคิดใหม่ๆและเป็นประโยชน์ที่สามารถนำมาพัฒนางานวิจัยในอนาคตได้” นางสาวกิติยา สุเหม กล่าวในตอนท้าย
 

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์ เรียบเรียง