Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

รองศาสตราจารย์วิทยา อานามนารถ : วิจัยทางชีววิทยาและนิเวศวิทยาสู่การควบคุมโรคพยาธิปากขอและพยาธิสตรองจิลอยดิส

อัพเดท : 28/04/2559

8411

รองศาสตราจารย์วิทยา อานามนารถ รองคณบดีสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ ได้วิจัยทางชีววิทยาและนิเวศวิทยาสู่การควบคุมโรคพยาธิปากขอและพยาธิสตรองจิลอยดิสที่ได้ผลจริง จนได้รับรางวัลด้านสาธารณะ ในฐานะทีมวิจัย ประจำปี 2558 ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

รองศาสตราจารย์วิทยา ได้เล่าให้ฟังถึงความสนใจในการทำวิจัยเกี่ยวกับพยาธิปากขอและพยาธิสตรองจิลอยดิส ในช่วงปี 2553-2555 ว่า ตามธรรมชาติพยาธิปากขอกินเลือดเป็นอาหาร จึงเป็นปัญหาต่อเด็กตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ที่มีพยาธิปากขอ ขณะเดียวกัน เด็กในวัยเรียนอาจมีภาวะโลหิตจาง หากมีพยาธิในระดับปานกลางขึ้นไป ส่งผลต่อการเรียน ทำให้ผลการเรียนไม่ดี ดังนั้น บุคคลสำคัญของโลกจึงให้ความสำคัญและบริจาคเงินช่วยเหลือเพื่อกำจัดโรค ที่สำคัญ องค์การอนามัยโลกได้จัดโรคพยาธิปากขอเป็นปัญหาสำคัญอันดับ 3 ของโลก ซึ่งมีอัตราการตายปีละ 140,000 คน ในส่วนของพยาธิสตรองจิลอยดิส (พยาธิเส้นด้าย) เป็นพยาธิที่ก่อโรคถึงแก่ชีวิตในผู้ที่อยู่ในภาวะกดภูมิคุ้มกัน และประเทศไทยเป็นแหล่งระบาดสำคัญโดยพบการติดเชื้อพยาธินี้ ร้อยละ 24

จากการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ในอดีตประเทศไทยมีความชุกชุมของพยาธิปากขอ ถึงร้อยละ 45 และเมื่อ 22 ปีที่แล้ว รัฐบาลมีนโยบายควบคุมโรคพยาธิปากขอทั่วประเทศ พบว่า ได้ผลดีในทุกภาค โดยความชุกชุมลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2-5 ยกเว้นภาคใต้ยังคงมีความชุกชุมถึงร้อยละ 30 ในทางตรงกันข้ามความชุกชุมของพยาธิสตรองจิลอยดิสในภาคใต้มีต่ำกว่าร้อยละ 10 ในขณะที่ภาคอื่นๆ มีความชุกชุมร้อยละ 24-30

รองศาสตราจารย์วิทยา เล่าว่า ความที่ไม่ได้เป็นคนใต้โดยกำเนิด ทำให้เห็นความแตกต่างในเรื่องของฤดูกาล ภาคใต้มีฤดูฝนนานถึง 10 เดือน แต่ภาคอื่นๆมีฤดูฝนนานแค่ 4 เดือน ประกอบกับการสังเกตจากงานวิจัยด้านการวินิจฉัยโรคพยาธิสตรองจิลอยดิส พบว่า พยาธิจะตายหมดในเวลา 12 ชั่วโมงหากมีน้ำอยู่เหนืออุจจาระแม้เพียงนิดเดียว และพยาธิจะโตไม่ได้เลยหากเจือจางอุจจาระด้วยน้ำ 160 เท่าขึ้นไป ในทางตรงกันข้ามไข่ของพยาธิปากขอสามารถทนอยู่ในภาวะขาดอากาศเหมือนในส้วมได้นานถึง 45 วัน และตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิปากขอมีชีวิตอยู่ในน้ำกลั่นได้นาน 70 วัน จากความรู้ดังกล่าวจึงสรุปได้ว่าน้ำเป็นตัวควบคุมโรคพยาธิสตรองจิลอยดิสโดยธรรมชาติ ในทางตรงข้ามน้ำเป็นตัวส่งเสริมการอยู่รอดและนำพาตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิปากขอให้กระจายไปทั่ว การควบคุมโรคจึงไม่ได้ผลในภาคใต้

ในช่วงแรก รองศาสตราจารย์วิทยา ได้ทำการควบคุมพยาธิสตรองจิลอยดิสและโรคพยาธิปากขอซึ่งได้ทำโดยบังเอิญในฤดูฝน พบว่า ความชุกชุมของพยาธิสตรองจิลอยดิสในพื้นที่วิจัยลดลงจากเดิมก่อนการควบคุมโรคที่ร้อยละ 13 เหลือเพียงร้อยละ 4 เนื่องจากดื้อยา ในขณะที่การควบคุมโรคพยาธิปากขอ พบปัญหาการติดเชื้อซ้ำในเวลาเพียงแค่ 6 เดือน ถึงร้อยละ 95 ของผู้เข้ารับการรักษา จึงได้ออกแบบการทดลองควบคุมโรคใหม่ โดยควบคุมโรคพยาธิปากขอในฤดูแล้งที่ฝนไม่ตกติดต่อกันนาน 40 วันขึ้นไป พบว่าในพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาการดื้อยา ได้ผลเต็มร้อยเปอร์เซนต์ ขณะที่พื้นที่ที่มีปัญหาการดื้อยากลับมีการติดเชื้อซ้ำเหมือนเดิม จึงได้แก้ปัญหาการดื้อยาในเบื้องต้น เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าการดื้อยาของพยาธิปากขอเกิดขึ้นเฉพาะในผู้เป็นพาหะของโรคเลือดจางกรรมพันธุ์ชนิดหนึ่ง

รองศาสตราจารย์วิทยา อานามนารถ กล่าวด้วยความภูมิใจในตอนท้ายว่า “การทำวิจัยผสมบริการวิชาการในชุมชน ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่อผู้อื่น การพบกับประชาชนที่ยากไร้และด้อยโอกาสพร้อมกับได้ช่วยเหลือพวกเขาในด้านอื่นๆ นำมาซึ่งสันติสุขในจิตใจ และเมื่อกลับมาทำวิจัยในห้องแลบก็เหมือนการฝึกสมาธิเนื่องจากต้องพุ่งความสนใจไปที่งาน การทำวิจัยไม่เคยทำให้เหนื่อยล้าเลยแม้สักนิด”
 

สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง