Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือดำเนินโครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของประเทศไทย

26/05/2559

1988



เมื่อวันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่ามา ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือในการดำเนินโครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของประเทศไทย ณ ห้องจูปีเตอร์ 5 อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี โดยกรมประมง ผนึกกำลังภาคีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ประกอบด้วย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) หวังฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าให้กลับคืน ความอุดมสมบูรณ์เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

น.ส.วารินทร์ ธนาสมหวัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการประมง เปิดเผยว่า “ปูม้า” เป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีความสำคัญและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทย โดยปัจจุบันมีการจับขึ้นมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปได้ส่งผลให้ผลผลิตปูม้ามีจำนวนลดลง จากข้อมูลในอดีตเมื่อปี 2541 ซึ่งเคยมีผลผลิตจากการจับถึง 46,678 ตัน แต่ในปี 2556 ลดลงเหลือเพียง 25,712 ตันเท่านั้น และจากการประเมินสภาวะทรัพยากรปูม้า พบว่าบริเวณทะเลอ่าวไทยมีการจับปูม้ามาใช้ประโยชน์เกินกว่าที่ธรรมชาติจะสามารถทดแทนได้แล้ว

กรมประมงได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรปูม้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งฟื้นฟูปริมาณปูม้าในธรรมชาติ เช่น การจัดทำโครงการธนาคารปูม้าไข่นอกกระดอง การศึกษาและพัฒนาการเพาะพันธุ์และอนุบาลปูม้าเพื่อปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ รวมถึงชาวประมง มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรปูม้าอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อกำหนดแนวทางการอนุรักษ์ โดยการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ห้ามทำการประมงปูไข่นอกกระดองภายในระยะเวลาเดือนตุลาคม ถึง ธันวาคม ของทุกปี ห้ามใช้เครื่องมือลอบปูที่มีขนาดช่องตาท้องลอบต่ำกว่า 2.5 นิ้ว ทำการประมง และมีการกำหนดเขตห้ามทำการประมงในเขตประมงชายฝั่งด้วยเครื่องมือบางชนิด เช่น อวนลาก และคราดหอย เป็นต้น เพื่อปกป้องแหล่งอนุบาลลูกสัตว์น้ำ