Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มวล.จัดเวทีประชุมด้านการจัดการระดับชาติ ครั้งที่ 5 นักศึกษา นักวิชาการกว่า 24 สถาบันทั่วประเทศร่วมนำเสนอบทความวิจัย

อัพเดท : 30/05/2559

2352

สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) จัดประชุมวิชาการด้านการจัดการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัยทางการจัดการ ครั้งที่ 5” (WMS Management Research National Conference #5) ภายใต้แนวคิด “การบริหารจัดการบนพื้นฐานนวัตกรรมทางสังคมเพื่อส่งผลต่อการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลง (Innovative Strategies & Social Engagement)” เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ณ โรงแรมทวินโลตัส จ.นครศรีธรรมราช โดยในพิธีเปิดการประชุมได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์ คณบดีสำนักวิชาการจัดการและรักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ม.วลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมพร้อมมอบโล่เกียรติคุณแก่ผู้สนับสนุนการจัดประชุมในครั้งนี้ และ ดร. รุ่งรวี จิตภักดี รองคณบดีสำนักวิชาการจัดการ กล่าวรายงาน

รองศาสตราจารย์ ดร. สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีปณิธานในการบุกเบิก แสวงหา บำรุงรักษาและถ่ายทอดความรู้ เพื่อสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าและความเป็นเลิศทางวิชาการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้เรืองปัญญาและคุณธรรม เป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้า โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และสำนักวิชาการจัดการมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคมในการพัฒนาประเทศให้เกิความยั่งยืนต่อไป การประชุมวิชาการด้านการจัดการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัยทางการจัดการ ครั้งที่ 5" (WMS Management Research National Conference # 5) ภายใต้แนวคิด “Innovative Strategies & Social Engagement” โดยนำเสนอการวิจัยที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและให้ความสำคัญกับพันธกิจต่อสังคม เพื่อให้การจัดการธุรกิจนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน รวมทั้งจัดการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การคิดแบบนอกกรอบเพื่อการพัฒนาสังคมและปฏิรูปการศึกษาไทย” โดย คุณมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคม สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2537 และรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2552

ดร. รุ่งรวี จิตภักดี กล่าวว่า สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีภารกิจในการผลิตบัณฑิต วิจัยและบริการวิชาการในศาสตร์ด้านการจัดการ โดยมีเป้าหมายของการเป็นสถาบันการศึกษาทางการจัดการเชิงนวัตกรรมที่ดีที่สุดในภาคใต้ บนพื้นฐานแนวคิดของการมุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมในการจัดการศึกษา และสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพบัณฑิต รวมทั้งเป็นสื่อกลางในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ในด้านการจัดการ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

 

การจัดการประชุมวิชาการด้านการจัดการระดับชาติในครั้งนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัยและนักศึกษาจากทั่วประเทศ โดยมีบทความวิจัย จำนวน 87 บทความ จากกว่า 24 สถาบันทั่วประเทศ เข้าร่วมนำเสนอผลงานทางวิชาการ โดยมีผลงานที่นำเสนอแบบบรรยายจำนวน 61 บทความและผลงานแบบโปสเตอร์ จำนวน 16 บทความ โดยบทความวิจัยที่นำเสนอครอบคลุมสาขาวิชาด้านการจัดการที่หลากหลาย ประกอบด้วย สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวและบริการ การจัดการทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาองค์การ การจัดการโลจิสติกส์และการดำเนินงาน การเงิน การตลาด การบัญชี เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ และด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นแนวคิดเกี่ยวกับ “Innovative Strategies & Social Engagement” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมและรับฟังการนำเสนอผลงานวิชาการกว่า 500 คน

หลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอบทความวิจัยกลุ่มย่อยได้มีพิธีมอบรางวัล “Best Paper Awards” ในแต่ละสาขาวิชา โดยในปีนี้ มีสาขาที่ได้รับรางวัลประกอบด้วย สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบูรพา สาขาการเงินและบัญชี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาโลจิสติกส์และการดำเนินงาน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสาขาการตลาด จากมหาวิทยาลัยบูรพา โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์ คณบดีสำนักวิชาการจัดการและรักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ม.วลัยลักษณ์ เป็นผู้มอบเกียรติบัตร

ทั้งนี้ การจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ วลัยลักษณ์วิจัยทางการจัดการครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจาก บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท หลักทรัพย์การจัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โรงแรมทวินโลตัส นครศรีธรรมราชและคุณสมชาย พิสุทธิโกศล ตำแหน่ง วิทยากร ระดับ 9 กองเดินเครื่องเขื่อนรัชประภา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรและหน่วยงานอื่น ๆ อีกจำนวนมาก รวมทั้งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งทั้งจากคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของสำนักวิชาการจัดการ ตลอดจนบุคลากรจากหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อีกด้วย