Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศ.นายแพทย์ ดร.ประพันธ์ ภานุภาค บรรยายพิเศษ “เอดส์ : จากการวิจัยสู่ชุมชน” งาน “วลัยลักษณ์วิจัย ครั้งที่ 8”

อัพเดท : 08/07/2559

3111

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล บรรยายพิเศษ “เอดส์ : จากการวิจัยสู่ชุมชน (AIDS : From Research to Communities” ในการประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย ครั้งที่ 8” ภายใต้แนวคิด Research for Well-being เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์



ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.ประพันธ์ ได้เล่าให้ฟังถึงมูลเหตุจูงใจให้ทำงานด้านผู้ป่วยโรคเอดส์ ว่า ได้ทำงานทางด้านภูมิคุ้มกัน โดยในปี 2527 ได้รักษาผู้ป่วยจำนวน 2 ราย ต่อมาได้วินิจฉัยว่า เป็นโรคเอดส์ 2 รายแรกในประเทศไทย ซึ่งในสมัยนั้นไม่ได้มีชุดตรวจ HIV อย่างในปัจจุบัน ขณะนั้น โรคเอดส์เป็นปัญหาของสังคม ประชาชนเกิดความกลัวและเป็นที่รังเกียจของคนรอบข้าง จึงได้ทำงานวิจัยโรคเอดส์ตลอดระยะเวลา 31 ปี โดยนำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.ประพันธ์ ได้ร่วมกับนักวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์และออสเตรเลีย จัดตั้งศูนย์ประสานความร่วมมือระหว่างไทย ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ เพื่อการศึกษาวิจัยทางเทคนิคด้านโรคเอดส์ (HIV-NAT) โดยขอความร่วมมือจากบริษัทยา เพื่อให้คนไข้ได้รับยา พร้อมกับการทำวิจัยไปด้วยพร้อมๆ กัน โดยได้ทดสอบยาต้านไวรัสเอดส์และวัคซีนเอดส์ครั้งแรกในประเทศไทย ทั้งนี้ หากคนไข้เป็นโรคเอดส์และเริ่มได้รับยาเร็ว จะไม่มีเชื้อไปแฝงตัวอยู่ในเม็ดเลือดแดง โดยเฉพาะถ้าทราบผลเชื้อ HIV ภายใน 2 สัปดาห์หลังจากเข้าสู่ร่างกาย จะรักษาให้หายได้

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.ประพันธ์ ได้ก่อตั้งคลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย ซึ่งก่อนหน้านั้น ถ้าตรวจพบว่าใครเป็นโรคเอดส์จะถูกส่งรายชื่อให้กระทรวงสาธารณสุข ทำให้ทุกคนกลัวการตรวจเชื้อ HIV อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นการให้บริการเชิงรับ โดยรอให้มีคนมาตรวจรับบริการที่คลินิก จึงได้เปลี่ยนมาเป็นคลินิกเคลื่อนที่ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นชายรักชายหรือผู้หญิงบริการมากขึ้น โดยไปให้บริการตรวจมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งปากทวารหนัก พร้อมกับเชิญชวนให้ตรวจ HIV ไปด้วย ทั้งนี้ จะไม่มีการถามข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้บริการมีความมั่นใจในการมาขอปรึกษาเรื่องการตรวจและป้องกันโรคเอดส์มากขึ้น และเชื่อมโยงไปถึงการดูแลและรักษาอีกด้วย ซึ่งคลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย เป็นคลินิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่มีผู้มาใช้บริการถึงปีละ 8,000 – 9,000 คน

การจัดตั้งคลินิก Tangerine คลินิกสำหรับคนข้ามเพศ เป็นแห่งแรกในเอเชีย โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อให้ส่งคนไข้มาใช้บริการที่คลินิก ซึ่งจะให้คำปรึกษาเรื่องเกี่ยวกับฮอร์โมนบำบัด การตรวจมะเร็งช่องคลอดใหม่ การแทรกให้ความรู้สุขภาพทางเพศ การคัดกรอง HIV รวมทั้งการให้บริการฉีดโบท๊อกซ์เพื่อความปลอดภัย เป็นต้น ทั้งยังตั้งจุดบริการ Test&Treat ตามภูมิภาคต่างๆ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ สุรินทร์ ชลบุรี และสงขลา

การจัดทำเว็บไซต์ Adam’s love (www.adamslove.org) ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับชายรักชายที่ให้ทั้งความรู้และความบันเทิง การให้บริการตรวจ HIV โดยส่งชุดตรวจไปให้ถึงบ้าน เจ้าหน้าที่จะติดต่อไปหลังจากที่ได้ชุดตรวจแล้วและดูวิธีการตรวจแบบออนไลน์ การตั้ง Communitiy-led MSM (ชายรักชาย) โดยให้ชุมชนร่วมมือกับภาครัฐ เริ่มจากการสร้างศักยภาพของชุมชน เช่น เรียนรู้วิธีการตรวจ คนที่ติดเชื้อมีอาการอย่างไร รักษาอย่างไร ถ้าไม่พบว่าเป็นเอดส์จะให้ยาป้องกันอย่างไร เป็นต้น โดยทำเป็นโครงการวิจัยย่อยภายใต้สภากาชาดไทย ซึ่งเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.ประพันธ์ บอกว่า ได้เรียนรู้จากองค์กรชุมชน เช่น องค์กรชุมชนสามารถให้บริการตรวจเอดส์ที่มีคุณภาพ สามารถเข้าถึงกลุ่มชุมชนได้ดีกว่าภาครัฐและเสริมงานภาครัฐ และองค์กรชุมชนรู้สึกภูมิใจ ที่สำคัญชุมชนต้องได้รับการยอมรับจากเพื่อนและภาครัฐ

โครงการช่วยลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูกซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงประทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1 ล้านบาท เป็นทุนตั้งต้นของโครงการ ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2539 โดยปัจจุบันได้มีการให้ยากับหญิงตั้งครรภ์และติดเชื้อเอดส์ทุกคนเพื่อลดปริมาณเชื้อไวรัสในตัวของแม่ให้เหลือน้อยที่สุด ลูกจะได้มีโอกาสติดเชื้อไวรัสน้อยลงเหลือเพียง 1-2% นอกจากนี้ ยังมีโครงการ PrEP ซึ่งเป็นการให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ HIV ก่อนมีการสัมผัสที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV จากการสัมผัส

การนำผลการวิจัยสู่ชุมชน จะต้องบอกได้ว่าใครจะสามารถนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ต้องปลูกฝังแนวคิดการวิจัย พัฒนาศักยภาพในการทำวิจัย และการทำให้ประชาชนรู้จักการตั้งสมมุติฐาน ดูผลการวิจัยเป็น เอาไปใช้ประโยชน์ได้ เพื่อช่วยให้คนไทยฉลาดและรู้จักคิดรอบด้าน ที่สำคัญการทำให้ชุมชนสามารถทำวิจัยได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.ประพันธ์ ภานุภาค ปิดท้ายว่า ก่อนทำอะไรควรปรึกษาชุมชน ต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และเราต้องฟังเสียงของชุมชนเพื่อให้ทำงานได้ดีขึ้น

สมพร อิสรไกรศีล ข่าว
ธีรพงศ์ หนูปลอด ภาพ