Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีเสด็จแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต ม.วลัยลักษณ์

อัพเดท : 27/10/2559

11670

วันนี้(7 ตุลาคม 2559) เวลา 16.19 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ไปในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2558 ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เฝ้ารับเสด็จ

ในการนี้ ได้พระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 1 คน ได้แก่ อาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสถาปัตยกรรม พระราชทาน ปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี รวมจำนวน 1,318 คน

จากนั้น พระราชทานเหรียญรางวัลให้แก่บัณฑิตเกียรตินิยม จำนวน 16 คน พระราชทานโล่รางวัลศึกษิตแห่งปีที่วลัยลักษณ์ ผู้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนนักศึกษา จำนวน 5 คน โล่กิตติการ จำนวน 1 หน่วยงาน พระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณแก่อาจารย์ดีเด่นด้านการวิจัย จำนวน 1 คน

โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้พระราชทานพระโอวาทแก่บัณฑิต ความตอนหนึ่งว่า “...ปัจจุบัน ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การที่บัณฑิตจะปฏิบัติกิจการงานให้สำเร็จผลเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติได้ในสภาวการณ์ดังกล่าว แต่ละคนจำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญหลายประการ ประการแรก ต้องเป็นผู้กระตือรือร้นขวนขวายที่จะแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งต้องรู้จักเลือกสรรความรู้ที่มีอยู่ไปใช้ให้เหมาะแก่งานและแก่สถานการณ์แวดล้อม เพื่อให้งานที่ทำนั้นบังเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด ประการที่สอง ต้องเป็นผู้มีทักษะในการสื่อสาร คือสามารถถ่ายทอดความรู้ความคิดของตนให้แก่ผู้ร่วมงานได้อย่างถูกตรงและชัดเจน จะได้มีความเข้าใจอันดีต่อกัน และสามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประการต่อมา ต้องเป็นผู้มีวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารจะได้สามารถเลือกสรรเฉพาะข้อมูลที่ถูกต้อง มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการทำงานและการพิจารณาตัดสินเรื่องราวต่าง ๆ ประการสุดท้าย ต้องเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมความประพฤติที่ดีปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของศีลธรรม มีความวิริยะอุตสาหะในการประกอบอาชีพการงาน และพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อสังคมและประเทศชาติ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน หากบัณฑิตทุกคนเร่งฝึกฝนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องให้มีคุณสมบัติครบถ้วนดังที่กล่าว ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็เชื่อว่าแต่ละคนจะสามารถนำพาบ้านเมืองให้พัฒนาก้าวหน้าไปสู่ความเจริญมั่นคงอันแท้จริงได้อย่างแน่นอน..”