News

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดุษฎี ชินนาพันธ์ : ศึกษาเกี่ยวกับกลไกการป้องกันต้นยางพาราต่อเชื้อรา <em>Phytophthora palmivora</em>

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดุษฎี ชินนาพันธ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สนใจศึกษาเกี่ยวกับกลไกการป้องกันต้นยางพาราต่อเชื้อรา Phytophthora palmivora นำไปต่อยอดพัฒนาเป็นการผลิตสารจากเชื้อราสำหรับการป้องกันการติดเชื้อของต้นยางพาราได้


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดุษฎี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ เกียรตินิยมอันดับสอง จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   จากนั้นได้รับทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ศึกษาต่อระดับปริญญาโทควบเอก สาขาวิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระหว่างที่ศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโทควบเอก ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “Diverse Functions of  Polypeptide Effectors from Phytophthora palmivora, a Pathogen of Hevea brasiliensis” หลังสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2552  ได้มาเป็นอาจารย์สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


นอกจากการสอนที่เน้นให้นักศึกษาเข้าใจในเนื้อหาที่สอนตั้งแต่ในห้องเรียน โดยพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษาผ่านกระบวนการเรียนแบบ Active Learning แล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดุษฎี  ยังสนใจศึกษาเกี่ยวกับกลไกการป้องกันของต้นยางพาราต่อเชื้อรา P. palmivora ซึ่งเป็นเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคใบร่วงและเส้นดำในยางพารา จากการวิจัยพบว่า เอฟเฟคเตอร์ต่างๆ ที่ผลิตออกมาจากเชื้อรา สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเหนี่ยวนำให้ต้นยางพาราเกิดระบบป้องกันตนเองได้ โดยเอฟเฟคเตอร์ที่เป็นอิลิซิเตอร์ชนิดโพลีเปปไทด์ในน้ำเลี้ยงเชื้อ P. palmivora ขนาด 10 กิโลดาลตัน และอิลิซิเตอร์ชนิดใหม่ขนาด 75 กิโลดาลตัน สามารถกระตุ้นการสร้างสารฟีนอลิก o-dianisidine เปอร์ออกซิเดส และเหนี่ยวนำการต้านทานต่อเชื้อ P. palmivora ในต้นอ่อนยางพาราได้ นอกจากนี้ได้ศึกษากลไกการทำลายต้นยางพาราของเชื้อรา พบว่า P. palmivora ผลิต PpEPI10 ซึ่งเป็น serine protease inhibitor ที่สามารถจับและยับยั้ง protease ขนาด 95 kDa ในใบยางพาราได้ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการบุกทำลายต้นยางพารา ประโยชน์จากงานวิจัยสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาเป็นการผลิตสารจากเชื้อราสำหรับการป้องกันการติดเชื้อของต้นยางพาราได้


สำหรับการสร้าง serine protease inhibitor ในใบยางพารา พบว่าใบยางพาราผลิต serine protease inhibitor ที่สามารถยับยั้งเอนไซม์ไคโมทริปซิน และซับทิลิซิน เอ แต่ไม่สามารถยับยั้งทริปซิน และพบว่า serine protease inhibitor ในใบยางพารา สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของ Trichophyton rubrum ซึ่งเป็นเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคกลากที่เท้าหรือฮ่องกงฟุต (Tinea pedis) 


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดุษฎี มีผลงานวิจัยและบทความวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทั้งระดับนานาชาติและระดับชาติ เช่น ผลงานวิจัยเรื่อง Isolation, expression, and characterization of the serine protease inhibitor gene (600Hbpi) from Hevea brasiliensis leaves, RRIM600 cultivar  และ Cloning and characterization of a putative gene encoding serine protease inhibitor (251Hbpi) with antifungal activity against Trichophyton rubrum from Hevea brasiliensis leaves ตีพิมพ์ในวารสาร Plant Omics Journal และบทความวิชาการเรื่อง Virulence Factors Involved in Pathogenicity of Dermatophytes ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร  Walailak Journal of Science and Technology เป็นต้น


นอกจากนี้  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดุษฎี ให้ความสนใจศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อภาวะไม่ทนต่อน้ำตาลแล็กโทส เพื่อให้ผู้ที่มีภาวะนี้ยังคงสามารถดื่มนมได้ โดยได้จัดทำโครงการบริการวิชาการ “การประเมินภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทสเบื้องต้นในเด็กชั้นประถมศึกษา จังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยเล่าว่า คนไทยมีการดื่มนมและบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมจำนวนมากขึ้นในปัจจุบัน  เพราะนมเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนและแคลเซียม อย่างไรก็ตาม มีประชากรบางส่วนไม่สามารถดื่มนมวัวหรือผลิตภัณฑ์จากนมวัวได้   เนื่องจากมีภาวะไม่ทนต่อน้ำตาลแล็กโทสที่อยู่ในนมวัวหรือผลิตภัณฑ์นมวัว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของการมีภาวะไม่ทนต่อน้ำตาลแล็กโทส คือ การมีปริมาณเอนไซม์แล็กเทสในปริมาณต่ำเมื่อมีอายุมากขึ้น ดังนั้น  การบริโภคนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมซึ่งมีน้ำตาลแล็กโทสเป็นองค์ประกอบ ทำให้ผู้ที่มีภาวะนี้มีอาการอย่างน้อย 1 อย่างต่อไปนี้  ได้แก่ ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน ท้องอืดท้องเฟ้อ เสียงลมในท้อง ทำให้ประชากรกลุ่มนี้มีข้อจำกัดในการดื่มนม ส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระดูกพรุนตามมา หากไม่ได้รับแคลเซียมที่เพียงพอ


ภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทส (เอนไซม์ย่อยน้ำตาลแล็กโทสในนม) พบได้ตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบขึ้นไป เพราะการสร้างเอนไซม์เริ่มลดลง จึงมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ดื่มนมไม่ได้ หรือดื่มแล้วมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย ซึ่งอาจส่งผลต่อภาวะโภชนาการของเด็ก  ทำให้เด็กเจริญเติบโตไม่เต็มที่ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดุษฎี  ได้ทำการสำรวจภาวะดังกล่าวในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-4 โรงเรียนวัดโคกเหล็ก และโรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช "ณ นครอุทิศ" จากการประเมินโดยการวัดปริมาณแก๊สไฮโดรเจนในลมหายใจหลังจากอดอาหารเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ร่วมกับการทำแบบสอบถาม พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักเรียนในโรงเรียนที่สำรวจมีภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทสจำนวนน้อย เนื่องจากการดื่มนมอย่างต่อเนื่อง เพราะทั้ง 2 โรงเรียนสนับสนุนให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนม โดยการแจกนมให้นักเรียนได้ดื่มทุกวัน ส่งผลให้การทำงานของเอนไซม์แล็กเทสยังคงอยู่


ขณะเดียวกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดุษฎี  ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทสให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-4 ของทั้งสองโรงเรียนอีกด้วย เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจเกี่ยวกับภาวะนี้และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติ  เพื่อป้องกันการเกิดภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทสในอนาคต ในส่วนของนักเรียนที่มีภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทสอยู่แล้ว  ได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนเพื่อให้สามารถกลับมาดื่มนมได้อีก  ในอนาคตจะทำการศึกษาเพื่อดูแนวโน้มความชุกของภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทสเบื้องต้นในทุกช่วงวัย ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อภาวะไม่ทนต่อน้ำตาลแล็กโทส

“การนำองค์ความรู้ที่ได้จากการบริการวิชาการและวิจัยมาใช้ในการสอนแก่นักศึกษา  รวมทั้งการให้ความรู้และคำปรึกษาในลักษณะการบริการวิชาการแก่ประชาชนในชุมชน” เป็นความมุ่งมั่นและความตั้งใจของ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดุษฎี ชินนาพันธ์ ในการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดทั้งในฐานะอาจารย์และนักวิจัย



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง

TOP