News

ศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ จัดแสดงปาฐกถาและคีตนาฏกรรม 20 ปีมวล.ครั้งที่ 2

สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดงานการแสดงปาฐกถาและคีตนาฏกรรม 20 ปี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครั้งที่ 2 เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบ 20 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมของประเทศไทย ในการก้าวเข้าสู่การเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ในปี 2558 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมตุมปัง อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 
 

โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรี อิสรไกรศีล รองอธิการบดีฝ่ายปฏิบัติการบริการกลาง ม.วลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ กล่าวรายงาน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย คุณสุรพงษ์ ชัยนาม แสดงปาฐกถาเรื่อง ไทยในบริบทอาเซียน และคุณโชติหิรัญ เปี่ยมสมบูรณ์ แสดงปาฐกถาเรื่องแนวความคิดในการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ชาวน้ำ-ชาวเรือในวิถีอาเซียน 
 

รองอธิการบดีฝ่ายปฏิบัติการบริการกลาง กล่าวในพิธีเปิดว่า การจัดงานดังกล่าวจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบ ครบ ๒๐ ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขณะเดียวกันในปีนี้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนต่างก็ตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า คือ การเกิดขึ้นของ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงเป็นการเตรียมพร้อมให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปรับมือความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างแข็งแกร่งและเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับสังคมไทย นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าวยังถือเป็นภารกิจที่ต้องนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แก่สังคมทั่วไปด้วย 
 

คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ กล่าวว่า การจัดแสดงปาฐกถาและคีตนาฏกรรม ๒๐ ปี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบ ๒๐ ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมของประชาชาติไทยสู่การเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ในปี ๒๕๕๘ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถนะของนักศึกษาให้มีทักษะความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ และภาษาต่างๆ ของกลุ่มประเทศอาเซียนรวม ๑๐ ประเทศ เป็นการเพิ่มพูนพันธกิจทางการศึกษาจากที่เคย เป็นหลักในถิ่น เป็นเลิศสู่สากล ไปสู่การประกอบสร้างเอกลักษณ์ใหม่ คือการเป็น อุทยานการศึกษาแห่งอาเซียน สร้างความรู้และเตรียมความพร้อมประชาคมวลัยลักษณ์และภาคใต้ของประเทศไทยให้มีความเข้าใจและพร้อมรับปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลง สามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านได้อย่างมีศักดิ์ศรี เป็นสุขและเป็นมิตรในประชาคมอาเซียน ซึ่งคาดว่าความรู้จากการปาฐกถาของวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จะมีส่วนช่วยประกอบสร้างการเป็นอุทยานการศึกษาแห่งอาเซียน ซึ่งได้กำหนดรู้ร่วมกันเป็น เอกลักษณ์ ของม.วลัยลักษณ์ นำไปสู่การสร้างความตระหนักรับรู้และเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนร่วมกัน เพื่อร่วมสรรค์สร้าง พลเมืองอาเซียน รุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจต่อความสำคัญของอาเซียน เข้าใจปัญหาเศรษฐกิจการเมือง ซาบซึ้งลุ่มลึกใน รากร่วมวัฒนธรรมอาเซียน และเป็น พลรบสีเขียว ที่มีอุดมการณ์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศให้กับประชาคมอาเซียน (Greening ASEAN) อีกด้วย 
 

สำหรับการแสดงปาฐกถาและคีตนาฏกรรม ๒๐ ปี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นโครงการกิจกรรมวิชาการและนันทนาการ รวมทั้งคีตนาฏการตลอดทั้งปี ๒๕๕๕ โดยมีการแสดงปาฐกถาองค์ความรู้สำคัญอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง โดยนอกจากกิจกรรมเกี่ยวกับการปาฐกถาแล้วยังมีการขับร้องประสานเสียง บทอวยชัย 20 ปี วลัยลักษณ์(Overture) การขับร้องประสานเสียง The ASEAN Way ,ความฝันของดอกไม้,Indonesia Raya, Let Us Move Ahead (A Song for ASEAN),บทเพลงพระราชนิพนธ์ แผ่นดินของเรา,Greening ASEAN ตลอดจนการอ่านบทกวีภาษาอินโดนีเซีย SajakPalsu (บทกวีจอมปลอม) การอ่านบทกวีภาษาเวียดนาม Hỏi (ถาม) การอ่านบทกวีภาษามาเลย์ Air DalamSajak (น้ำในบทกวี) การอ่านผญาภาษิตลาว การอ่านบทกวีภาษาอังกฤษ To be or not to be a Soliloquy in William Shakespeares Hamlet โดยนักศึกษาสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ในช่วงค่ำของวันเดียวกัน ยังมีการแสดงคีตนาฏกรรม กรุงวลัยลักษณ์รัตนาธานี ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี โดยนักแสดงซึ่งเป็นนักศึกษาของสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ซึ่งเป็นละครดึกดำบรรพ์-หลังสมัยใหม่ ได้ดัดแปลง-รื้อสร้าง เค้าโครงเรื่องวรรณคดีไทย พระอภัยมณี ตอนพระอภัยมณีศรีสุวรรณเรียนวิชา ของสุนทรภู่ โดยนำนาฏศิลป์ ลีลานาฏการของไทย และเอกลักษณ์ของภาคใต้ ได้แก่ เพลงบอก โนรา หนังตะลุง เพลงแหล่ บูรณาการกับลีลานาฏการตะวันตก บัลเล่ต์ ละครเงา ละครหน้ากาก ละครใบ้ และลีลานาฏการร่วมสมัย โดยใช้ดนตรีประกอบร่วมสมัยแต่ยังคงคุณค่าเชิงสุนทรียศาสตร์ของสยาม โดยมีนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และผู้สนใจทั่วไปร่วมชมกว่า 1,000 คน 

ประมวลภาพ ข่าวโดย นายธีรพงศ์ หนูปลอด ภาพโดย ส่วนประชาสัมพันธ์ และ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา


TOP