News

สู่ทศวรรษที่ 3 ม.วลัยลักษณ์มุ่งเน้นงานวิจัยเชิงรับใช้สังคม

 

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 มุ่งเน้นงานวิจัยเชิงรับใช้สังคม ด้วยการส่งเสริมและกระตุ้นให้คณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยบูรณาการงานวิจัยเชิงพื้นที่ โดยร่วมกับชุมชนท้องถิ่นพัฒนาโจทย์วิจัยที่มุ่งให้เกิดการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่และสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อการแข่งขันในอนาคต 
 
รองศาสตราจารย์ ดร.ก้าน จันทร์พรหมมา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคม เปิดเผยว่า ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครบรอบ 20 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย วันที่ 29 มีนาคม 2555 และกำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 มหาวิทยาลัยจึงมีนโยบายเน้นการวิจัยเป็นกลุ่มวิจัยและวิจัยแบบบูรณาการศาสตร์ (Multidisciplinary Research) เพื่อให้การวิจัยมีทิศทางที่ชัดเจนตามนโยบายการวิจัยของมหาวิทยาลัยและของประเทศ ส่งเสริมให้อาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ (Area Based Research) ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันจะมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมดุลกับการสร้างองค์ความรู้ใหม่และต่อยอดองค์ความรู้เดิมเพื่อการแข่งขันในอนาคต โดยได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนจำนวนหลายล้านบาท รวมทั้งการหาแหล่งเงินทุนจากภายนอกเพื่อส่งเสริมงานวิจัยตามกรอบความสนใจของนักวิจัยและหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นต้น 
 
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคม กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ใน 10 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ จะนำจุดแข็งด้านงานวิจัย ความเชี่ยวชาญและความหลากหลายขององค์ความรู้จากสำนักวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ตอนบนเป็นหลัก สร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อเป็นผู้นำด้านการวิจัยในระดับสากล ส่งเสริมการวิจัยเป็นกระบวนการเรียนรู้ เชื่อมโยงการบริหารงานวิจัยและการบริการวิชาการเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการวิจัยพื้นฐานที่สร้างองค์ความรู้ใหม่กับการวิจัยที่สามารถนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์และพัฒนาสังคม อย่างเช่น หน่วยวิจัยความเป็นเลิศพลาสมาประยุกต์เพื่อการกสิกรรม ได้สร้างเครื่องกำจัดตัวมอดและไข่มอดในไม้ยางพารา ขนาดกำลัง 72 kW เพื่อใช้ในการกำจัดมอดในไม้ยางพาราให้กับบริษัท แปลนครีเอชั่น จำกัด จ.ตรัง ที่ใช้ในการผลิตของเล่นสำหรับเด็ก เพื่อให้บริษัทสามารถส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรปซึ่งห้ามการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงได้ หรืออุตสาหกรรมไม้ยางพาราซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของภาคใต้ หน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ ก็ได้ดำเนินการวิจัยด้านวิชาการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยยกมาตรฐานอุตสาหกรรมไม้และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอนาคต โดยตั้งศูนย์ทดสอบ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและศูนย์ฝึกอบรมไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ให้บริการแก่หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการอบรมนานาชาติ เรื่อง Wood Based Panels: Processes, Properties and Uses ร่วมกับ International Wood Academy, University of Hamburg ประเทศเยอรมัน University Transilvania of Brasov ประเทศโรมาเนีย หรือดำเนินการชุดโครงการวิจัยและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โครงการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนภาคใต้ตอนบน หรือการนำผลงานวิจัยไปเผยแพร่ในรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ โดยบูรณาการองค์ความรู้แบบสหสาขาวิชา เพื่อมุ่งแก้ไขและสร้างสังคมเข้มแข็ง เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์เยลลี่ส้มโอเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งเป็นการนำผลงานวิจัยของอาจารย์สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ความเชี่ยวชาญด้านการทำการตลาดและตราสินค้าของอาจารย์สำนักวิชาการจัดการ และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบมาบูรณาการเป็นองค์ความรู้ร่วมกันเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางด้านการเกษตร เป็นต้น 
 
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของชุมชนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นหลักในถิ่นของภูมิภาคและเป็นอุทยานการศึกษาที่ร่วมขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาประเทศสู่สังคมอุดมปัญญา รองศาสตราจารย์ ดร.ก้าน กล่าวในตอนท้าย

TOP