Research News

“เวียงสระโมเดล” โมเดลการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกเชิงระบบผ่าน DHB สู่ DHS



นับเป็นอีกหนึ่งอำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาโรคไข้เลือดออกและพร้อมที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งได้ตอบรับและเปิดตัวเข้าร่วมในโครงการ “การพัฒนาระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก (เวียงสระโมเดล) ผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ: พชอ. (District Health Board: DHB) สู่ ระบบสุขภาพอำเภอ (District Health System: DHS)”

รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก ได้กล่าวว่า “เวียงสระโมเดล” จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นการดำเนินงานที่มีต้นแบบมาจาก ลานสกาโมเดลและไชยาโมเดล หากมีการดำเนินงานป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถสร้างความตื่นตัวของประชาชนที่นำไปสู่การลดอัตราการเกิดโรคไข้เลือดออกได้

การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ของอำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปีงบประมาณ 2561 นี้ ได้จัดเป็นประเด็นปัญหา 1 อำเภอ 1 ประเด็นปัญหา (One District One Project : ODOP) เริ่มดำเนินการเปิดโครงการในวันที่ 5 มีนาคม 2561 โดยนายนพสิทธิ์ อุดมสุวรรณกุล นายอำเภอเวียงสระ ได้มอบหมายให้ นายวัยวัธน์ ศรีเพชรพูล ปลัดอาวุโส เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมชี้แจง แนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก (เวียงสระโมเดล) อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปีงบประมาณ 2561 แก่คณะกรรมการ พชอ.เวียงสระ ประธาน อสม. ตัวแทนผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวม 40 คน ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเวียงสระ โดยมีนายบุณญศักดิ์ บุญประสงค์ สาธารณสุขอำเภอเวียงสระกล่าวรายงานการประชุม
แผนงานกิจกรรมที่ดำเนินการของ “เวียงสระโมเดล” ประกอบไปด้วย

1) เปิดตำนานเวียงสระโมเดลเพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ โดยเชิญทุกภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วมรับรู้ทราบเพื่อเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานของโครงการฯ
2) วิเคราะห์ปัญหา ค้นหาพื้นทีเสี่ยง คือการมีส่วนร่วมทั้ง อสม. ผู้นำชุมชน อปท. ครู และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในระดับพื้นที่ ให้ได้รับรู้แนวทางการเดินงาน
3) ติดตั้งระบบเตือนภัย ดำเนินการติดตั้งระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายฯ ในทุกตำบลผ่าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเวียงสระ ดำเนินการอบรมการบันทึกข้อมูลลงในโปรแกรมเฝ้าระวังลูกน้ำยุงลาย “SURAT Dengue ระบบเฝ้าระวังลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน จังหวัดสุราษฎร์ธานี: https://limsurat.wu.ac.th” เพื่อวิเคราะห์และวางแผนการควบคุมโรคได้ทันท่วงทีต่อไป
4) กำจัดจุดอ่อน ให้ความรู้ด้านสุขศึกษาเรื่องโรคไข้เลือดออก ทั้งในโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานประกอบการที่มีลูกจ้างจำนวนมาก หรือแม้แต่ชุมชนพื้นที่เสี่ยงที่มีแนวโน้มจะเกิดการระบาดให้หันมาร่วมมือกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างจริงจัง และมีมาตรการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
5) อบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพทีม SRRT ให้มีความรู้ ความเข้าใจและปฏิบัติงานได้จริงเมื่อมีการระบาดของโรคในพื้นที่ 6) รวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในการกำจัดยุง และ
7) รวบรวมกิจกรรมเด่นของเวียงสระโมเดล มาพัฒนาการเรียนรู้สู้งานวิจัยเพื่อประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานต่างๆ ได้รับทราบต่อไป

ทั้งนี้เริ่ม Kickoff พร้อมปฏิบัติการตามระบบฯ ในวันที่ 25 เมษายน 2561 โดยเชิญนายอำเภอเวียงสระเป็นประธาน รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง กล่าวในตอนท้าย



ประมวลภาพ

TOP