News

อาจารย์ นพ. ธารินทร์ เพ็ญวรรณ : สนใจศึกษาเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care)

อาจารย์ นพ. ธารินทร์ เพ็ญวรรณ อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สนใจศึกษาเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) ซึ่งเป็นสาขาทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่รักษาไม่หายขาดและญาติผู้ป่วย โดยเน้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และทำให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสุขสบาย ไม่ต้องทุกข์ทรมาน

อาจารย์ นพ. ธารินทร์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากนั้นไปศึกษาเพิ่มพูนความรู้เป็นแพทย์ประจำบ้าน ในสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อสำเร็จการศึกษาได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

อาจารย์ นพ. ธารินทร์ ให้ความสำคัญในกระบวนการการสอนและงานวิจัย เนื่องจากวิชาชีพแพทย์ เป็นสาขาที่ต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ตลอดเวลา หากผู้สอนไม่มีองค์ความรู้หรือวิธีการสอนที่เหมาะสม ก็อาจทำให้กระบวนการเรียนรู้ของนักศึกษาถูกจำกัด ส่วนงานงานวิจัยถือว่า เป็นการรวบรวมองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้สนใจสามารถติดตามงาน พัฒนา และต่อยอดได้ในอนาคต

นอกจากนี้ อาจารย์ นพ. ธารินทร์ ยังให้ความสนใจงานด้านการวิจัย โดยเน้นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะสาขา palliative care ซึ่งเป็นสาขาทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่รักษาไม่หายขาดและญาติผู้ป่วย และด้านแพทยศาสตรศึกษา

มีการประมาณการณ์ไว้ว่า ทั่วโลกมีผู้ที่ต้องการ palliative care ประมาณ 40 ล้านคน ในแต่ละปี โดยร้อยละ 78 อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา และมีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่เข้าถึงการบริการได้อย่างครอบคลุม ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น บุคลากรทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาล ขาดองค์ความรู้ในการดูแลอาการทางกายของผู้ป่วย การเข้าถึงยาอย่างจำกัด โดยเฉพาะยากลุ่ม opioid ที่เป็นยาพื้นฐานในการควบคุมอาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้ และการขาดการเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ป่วยและการส่งต่อผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพในระบบสุขภาพ

กลุ่มโรคที่จะได้ประโยชน์จากการดูแลแบบ palliative care แบ่งตามองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization) ได้ 12 กลุ่มโรค ดังนี้ 1) กลุ่มโรคผู้ป่วยสมองเสื่อมและโรคอื่นๆ (Alzheimer และโรคอื่นๆ) 2) ผู้ป่วยมะเร็ง 3) ผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจ เช่น หัวใจล้มเหลวระยะท้าย 4) ผู้ป่วยโรคตับแข็ง 5) ถุงลมโป่งพองระยะท้าย 6) เบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ระยะท้าย 7) ผู้ป่วย HIV/AIDS 8) ผู้ป่วยโรคไตที่ต้องได้รับการฟอกเลือด/เปลี่ยนของเสียทางหน้าท้อง 9) กลุ่มโรค Multiple sclerosis 10) โรค Parkinson’s 11) โรคข้ออักเสบ Rheumatoid ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา และ 12) วัณโรคที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา (Drug-resistant tuberculosis) ซึ่งอาจารย์ นพ. ธารินทร์ ได้เป็นที่ปรึกษาในการวางระบบ palliative care ที่โรงพยาบาลสิชล อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเน้นการพัฒนาการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย การคุมอาการผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและการติดตามอาการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้ว่าสถานการณ์ของ palliative care มีแนวโน้มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทว่า หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุด คือ ยังขาดผู้ผลิตองค์ความรู้ที่เป็นระบบ กอปรกับในประเทศไทย ยังไม่มีผู้ศึกษาในระดับปริญญาเอกทางสาขานี้ ดังนั้นการที่ อาจารย์ นพ. ธารินทร์ กำลังเตรียมตัวไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ University of Dundee ประเทศ Scotland ในสาขา Palliative Care จะช่วยพัฒนาการวิจัย ทั้งในระดับสำนักวิชา มหาวิทยาลัย และประเทศ ในท้ายที่สุด

ในตอนท้าย อาจารย์ นพ. ธารินทร์ ได้เล่าถึงความสำเร็จและความภาคภูมิใจว่า ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 ของการเป็นแพทย์ประจำบ้าน ได้ไปเป็นวิทยากรในงานประชุมระดับนานาชาติ 1st Pallicon ณ เมือง Imphal รัฐ Manipur ประเทศ India โดยมีผู้เข้าร่วมจาก 7 ประเทศ จำนวน 200 คน รวมทั้งได้รับทุนสนับสนุนให้ไปศึกษาดูงาน ที่ St. Christopher Hospice ลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสถานที่ศึกษาดูงานในเรื่อง palliative care ที่มีชื่อเสียงและดีที่สุดในโลก

ประวัติและผลงาน



สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง

TOP