Research News

“กาญจนดิษฐ์โมเดล” ก้าวสำคัญของการวางระบบแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอำเภอขนาดใหญ่ 13 ตำบล 117 หมู่บ้าน และ อสม. 2,340 คน

“กาญจนดิษฐ์โมเดล” ก้าวสำคัญของการวางระบบแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอำเภอขนาดใหญ่ 13 ตำบล 117 หมู่บ้าน และ อสม. 2,340 คน โดยเครือข่ายสุขภาพอำเภอกาญจนดิษฐ์ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์



กาญจนดิษฐ์โมเดล โมเดลการแก้ปัญหาโรคไข้ เลือดออกเชิงระบบในอําเภอขนาดใหญ่ จาก 117 หมู่บ้าน ของ 13 ตําบล อําเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี เป็น 1 ใน 3 อำเภอนำร่องของการดำเนินการ โครงการ “การพัฒนาระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีไชยาโมเดล: โมเดลเครือข่ายระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกในจังหวัดสุราษฏร์ธานี” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติในโครงการ “การจัดการความรู้เพื่อการใช้ประโยชน์เชิงชุมชน สังคม” โดยมีการดำเนินการ “กาญจนดิษฐ์โมเดล” ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2650 จนถึงปัจจุบัน


การดำเนินการที่ผ่านมารวม 6 เดือน ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นในพื้นที่ 6 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) การเตรียมความพร้อมของพื้นที่ 2) การติดตั้งระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายทั้ง 18 ศูนย์เฝ้าระวัง (จาก 17 รพ.สต. และ 1 CPU) 3) การพัฒนาสมรรถนะด้านความรู้ของ อสม. จำนวน 2,340 คนจาก 117 หมู่บ้าน 4) การติดตามการดำเนินการเชิงวิชาการด้วยการใช้ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวัง 5) การดำเนินการแก้ปัญหาในระดับหมู่บ้าน และ 6)การดำเนินการพัฒนางานประจำสู่การวิจัยเชิงพื้นที่ในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก (R to ABCR for D)

วัตถุประสงค์ของการดำเนินการประเมินผลการดำเนินงาน รับทราบปัญหา และอุปสรรค รวมถึงการวางแผนการดำเนินงานให้เกิดความยั่งยืน จึงมีการประชุมติดตามผลการดำเนินการโดยเครือข่ายสุขภาพอําเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี และศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 สถานที่ สำนักงานสาธรณสุขอำเภอกาญจนดิษฐ์

ผลการประชุม ได้รับเกียรติจาก ว่าที่ร้อยโท สมชาย เรืองจันทร์ นายอําเภอกาญจนดิษฐ์เป็นประธานเปิดกิจกรรมพร้อมให้กำลังใจในการดำเนินการ ดำเนินการิจกรรมระดมสมองโดย นายเชิด ทองสุข สาธารณสุขอําเภอกาญจนดิษฐ์ ตลอดถึงความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 36 คน ผู้นำท้องถิ่น (อบต.) 9 คน และ ตัวแทน อสม. 13 คน จากทุกพื้นที่รวม 60 คน และ รองศาสตราจารย์ ดร. จรวย สุวรรณบำรุง และทีมงานจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผลการดำเนินการของระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายของเดือนเมษายน พ.ศ. 2561

ประเด็นการติดตามประเมินผล
จาก 6 กิจกรรมที่มีการกำหนดไว้ในกาญจนดิษฐ์โมเดล พบว่า 1) มีการดำเนินการของการประเมินพื้นที่เสี่ยงที่ชัดเจนของ 117 หมู่บ้าน โดยแสดงในโปรแกรม http://limsurat.wu.ac.th 2) ดำเนินการในการเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำของทุกพื้นที่ โดยผลการคำนวณดัชนีลูกน้ำยุงลายในแต่ละเดือน แม้ว่าจะมีค่าดัชนีลูกน้ำสูงกว่าค่ามาตรฐานแต่ก็สามารถใช้ในการเฝ้าระวังความเสี่ยง 3) อสม. มีความรู้เกี่ยวกับระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำ

อย่างไรก็ตามมีบางกิจกรรมที่ต้องดำเนินการต่อ คือ 1) การติดตามการดำเนินการเชิงวิชาการด้วยการใช้ข้อมูลดำเนินการแก้ปัญหาในระดับหมู่บ้าน และ 2) การดำเนินการพัฒนางานประจำสู่การวิจัยเชิงพื้นที่ในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก (R to ABCR for D) ทั้งนี้ที่ประชุมได้ร่วมอภิปรายประเด็นปัญหา/อุปสรรค เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการ โดย

ปัญหา/อุปสรรค ที่สำคัญคือ 1) สภาพพื้นที่ของแต่ชุมชนที่เป็นพื้นที่สวน มีน้ำขัง 2) สภาพแวดล้อมภายในบ้านและบริเวณบ้านของชุมชน โดยเฉพาะ ขยะ ที่ขาดการจัดการอย่างจริงจัง 3) ปัญหาเดิมๆ ที่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นคือ ขาดการให้ความร่วมมืออย่างจริงจังของคนในชุมชน 4) กาญจนดิษฐ์โมเดลคืออะไร ทำแล้วได้อะไร หลายคนยังไม่เข้าใจในวัตถุประสงค์ของโมเดลนี้โดยเฉพาะประชาชนทั่วไป

แนวทางในการดำเนินการต่อเนื่องของ กาญจนดิษฐ์โมเดล โดยที่ประชุมได้มีการอภิปรายร่วมกันเสนอ

1) การสร้างความตระหนักของทุกภาคส่วน กระตุ้นเชิงจิตสำนึกซึ่งมีรูปแบบที่คิดไว้ “การมองความยั่งยืนไม่ใช่แค่วันนี้” มีนวัตกรรมสำหรับพื้นที่นับจุดเริ่มต้นของการคิดที่จะแก้ปัญหา
2) เน้นการดำเนินการโครงการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกที่เป็นรูปธรรมของแต่ละหมู่บ้าน เน้นเริ่มต้นจากตัวเอง โดยมี อสม. เป็นแบบอย่างที่ดี และการใช้ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังฯ ในการจัดโครงการแก้ปัญหา
3) ดำเนินการต่อเนื่องของทีมการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยเชิงพื้นที่ (R to ABCR for D) ซึ่งมีการนัดประชุมเชิงปฏิบัติการในการวิเคราะห์ข้อมูล และการเขียนรายงานทางวิชาการของทีม โดยคาดว่าจะมีผลงานวิชาการของทุก รพ.สต.

อย่างไรก็ตามการให้ความสำคัญและติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องนับเป็นสิ่งสำคัญและเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่จะต้องแก้ไขและผ่านไปให้ได้ ดังคำกล่าวของท่านนายอำเภอ “…แม้จะทำไม่ได้ทั้งหมดแต่ในภาพรวมต้องดีขึ้นและดีกว่าที่ผ่านมา...” สอดคล้องกับคำกล่าวของ รศ. ดร. จรวย สุวรรณบำรุง “ปัญหาและอุปสรรคที่มี ต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า เป็นปัจจัย หรือเงื่อนไข หากเป็นปัจจัยจะแก้ไขได้ แต่หากมองว่าเป็นเงื่อนไขก็จะยุ่งยากหรือแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นอาจจะมีปัญหาอุปสรรคของการมองปัญหา ปัญหาคือ การมองปัญหา” เสริมด้วยข้อเสนอแนะจากสาธารณสุขอำเภอกาญจนดิษฐ์ “…การเปลี่ยนวิธีคิดหรือมุมมองใหม่ อย่าใช้แต่วิธีเดิมในการแก้ปัญหา ฉะนั้นการร่วมมือกัน ตั้งใจกันทำงาน การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน จึงเป็นสิ่ง ที่สำคัญ”








TOP