Research News

วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 ฉบับสังคมพหุวัฒนธรรม อ่านได้แล้วในแบบออนไลน์



วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ย่างเข้าปีที่ 11 เป็นก้าวย่างของการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาวารสารระดับอาเซียน (ACI) จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเขียนอ้างอิงและบรรณานุกรมเป็นภาษาอังกฤษ อีกทั้งเรายังรับบทความภาษาอังกฤษอีกด้วย เพื่อก้าวสู่ความเป็นสากล

สำหรับวารสารสังคมศาสตร์ ฯ ฉบับที่ 1 ปีพ.ศ. 2561 (มกราคม-มิถุนายน) ฉบับสังคมพหุวัฒนธรรม กล่าวถึง สภาพพหุวัฒนธรรมในสังคมไทยมีมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ การใช้ชีวิต การทำมาหากิน ความเชื่อ และสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน นับว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนและการผสมผสานกันของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ที่ต้องการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และคุณค่าด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจ อีกทั้งแนวทางปฏิบัติของพวกเขาได้รับการยอมรับว่าสอดคล้องกับกฎหมายและคุณค่าของสังคมในวงกว้าง อย่างไรก็ตามเราก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด ไม่มองเฉพาะอัตลักษณ์หรือวัฒนธรรมนั้น ๆ อย่างตายตัวหรือหยุดนิ่ง เพราะอาจกลายเป็นกับดักทางความคิดของเรา ที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้คนต่างวัฒนธรรมในสังคมเดียวกันได้ ในขณะที่สังคมที่เราอยู่นั้นมีความเป็นพหุวัฒนธรรมที่ผู้คนต่างวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลายในยุคไร้พรมแดน

วารสารฉบับนี้จึงได้รวบรวมบทความที่ศึกษาและสะท้อนภาพของสังคมพหุวัฒนธรรม อันประกอบด้วย 6 บทความ ดังนี้ เริ่มต้นด้วยบทความเรื่อง “ชาวไทยทรงดำ: ผู้กระทำการกับโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมในจังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดย กฤษณะ ทองแก้ว เป็นบทความวิจัยที่ศึกษาการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมของชาวไทยทรงดำในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะผู้กระทำปฏิบัติการโครงสร้างสังคมผ่าน 4 กิจกรรม ได้แก่ พิธีกรรมปาดตงผลไม้ การเปลี่ยนแปลงท่ารำ การรวมกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ และการตกแต่งลายผ้าไทยทรงดำ เพื่อสร้างโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมชุดใหม่ขึ้นมา

บทความที่สองเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหารในมิติวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ บ้านทิพุเย ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี” โดย นพรัตน์ ไชยชนะ และจักษุมาลย์ วงษ์ท้าว เป็นบทความที่ศึกษาวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์กับการเพาะปลูกข้าวไร่ด้วยวิถีดั้งเดิม ซึ่งสะท้อนถึงความมั่นคงทางอาหารกับการรักษาระบบนิเวศ เพื่อยังคงรูปแบบวิถีชีวิตบนความหลากหลายที่ยังคงอยู่ในชุมชนอย่างยั่งยืน

บทความที่สามเรื่อง “โอกาสของพื้นที่ตำมะลังในบริบทและทุนทางสังคม พรมแดนไทย-มาเลเซีย” โดย มูฮำหมัดราพีร์ มะเก็ง เป็นบทความวิชาการ ศึกษาชาวชุมชนตำมะลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ที่มีเชื้อสายมาเลย์และอินโดนีเซีย มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและข้ามพรมแดนระหว่างไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นจุดเชื่อมโยงทุนทางสังคม ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ การสื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน รวมถึงการค้าและการท่องเที่ยว

บทความที่สี่เรื่อง““แนวคิดเรื่องพื้นที่ภูเขา”ใน“คัมภีร์แห่งขุนเขาและทะเล”” โดย ไพรินทร์ ศรีสินทร บทความวิชาการที่ผู้เขียนได้นำวรรณกรรมจีน “ชานไห่จิง” ซึ่งมีอิทธิพลต่อลัทธิขงจื่อ และลัทธิเต๋า มาตีความและวิเคราะห์เพื่อให้เห็นถึงนัยยะของพื้นที่ภูเขากับการให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ องค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับพืชพรรณ สมุนไพร ภูมิศาสตร์ รวมถึงคุณธรรมจริยธรรม

บทความที่ห้าเรื่อง “การประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการจากองค์การบริหารส่วนตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช” โดย เบญจพร จันทรโคตร เป็นบทความที่ศึกษาความพึงพอใจ และปัญหาอุปสรรคของผู้รับบริการที่มีต่อองค์การบริหารส่วนตำบลโมคลาน ในงาน 4 ภารกิจ ได้แก่ งานกิจการประปา งานจดทะเบียนพาณิชย์ งานรับเรื่องราวร้องทุกข์และงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ ซึ่งพิจารณาถึงขั้นตอนการให้บริการ ช่องทางการให้บริการ เจ้าหน้าที่และสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสม บทความชิ้นนี้ถือว่าเป็นบทความที่พยายามสะท้อนการทำงานและการให้บริการของภาครัฐที่มีต่อภาคประชาชนในท้องถิ่นที่รับผิดชอบ

ปิดท้ายเล่มด้วยบทปริทัศน์ของ อาดีลัน อุสมา ได้แนะนำหนังสือเรื่อง “The History of Education in Modern India, 1757-2012” เขียนโดย Suresh Chandra Ghosh พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Orient Blackwan ในปี ค.ศ.2011 เป็นหนังสือที่กล่าวถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาของประเทศอินเดียตั้งแต่ช่วงอาณานิคมอังกฤษ จนถึงยุคปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ

อาจกล่าวได้ว่า วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ฉบับ สังคมพหุวัฒนธรรม ต้องการให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจและปรับมุมมองมายาคติของสังคมพหุวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในสังคมไทยอย่างไร้พรมแดน อีกทั้งวารสารฉบับนี้ยังเป็นพื้นที่หนึ่งที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนโอกาสให้นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เผยแพร่บทความที่มีประโยชน์และคุณูปการต่อสังคม รวมถึงการลิ้มรสอาหารทางความคิดผ่านตัวอักษร และการต่อยอดความรู้ต่อไป

ผู้สนใจอ่านบทความออนไลน์ได้แล้ววันนี้ที่ https://www.tci-thaijo.org/index.php/wjss/index

การส่งต้นฉบับ
ผู้เขียนสามารถส่งต้นฉบับโดยการสมัครสมาชิกในเว็บไซต์วารสารสังคมศาสตร์
ในการส่งต้นฉบับแบบออนไลน์ผู้เขียนควรระบุช่องทางในการติดต่อกลับ ไม่ว่าจะเป็นอีเมลหรือเบอร์โทรศัพท์แทรกไว้ในบทความด้วย ในกรณีที่มีปัญหาในการส่งบทความทางเว็บไซต์ ให้ส่งบทความมาทางอีเมล ดังที่อยู่ต่อไปนี้

บรรณาธิการวารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
222 ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช 80161
เบอร์โทรศัพท์ 0-7567-3566 โทรสาร 0-7567-3553
อีเมล: socjourn.wjss@gmail.com

เว็บไซต์ : https://www.tci-thaijo.org/index.php/wjss/

TOP