News

รศ. พญ. วีระนุช นิสภาธร : มีผลงานวิจัย/บทความทางวิชาการกว่า 100 เรื่อง

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช นิสภาธร อาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสู่ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและสุขภาพ มีผลงานวิจัย/บทความทางวิชาการกว่า 100 ฉบับ ตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจาก Lady Hardinge Medical College มหาวิทยาลัยเดลี ประเทศอินเดีย โดยได้รับทุนการศึกษาจากสภาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของอินเดีย (Indian Council for Cultural Relations) สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง Tropical Medicine & Hygiene (DTM&H) และปริญญาโท Clinical Tropical Medicine (MCTM) จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเชิญเป็นอาจารย์สอนภาควิชาปาราสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย ระหว่างปี 2542-2560 จากนั้นได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช มีความมุ่งมั่นในวิชาชีพทั้งด้านการเรียนการสอน งานวิจัย งานบริการวิชาการ และงานบริหาร โดยเฉพาะการเรียนการสอนนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งในฐานะผู้รับผิดชอบในรายวิชา และการเป็นที่ปรึกษาแก่นักศึกษาระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต โดยให้ความสำคัญทั้งแนวคิดและทฤษฎี รวมทั้งการใช้กรณีศึกษาเป็นองค์ประกอบในการสอน เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ จนได้รับความชื่นชมจากผลการประเมินของนักศึกษา ทั้งแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และชีวการแพทย์ ทั้งยังได้รับเกียรติให้เป็น Visiting Professor จากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ บรรยายสอนในด้านเทคโนโลยีการแพทย์ เช่น มหาวิทยาลัย Centro Escolar ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ด้านงานวิจัย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช ได้นำหลักผสมผสานทางความคิดแบบ “Mind and Science” ระหว่าง นักปรัชญาเมธีระดับโลก ท่านพุทธทาส อินทปัญโญ และ นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ มาใช้ในการทุ่มเทด้านงานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้าน Toxoplasmosis, Waterborne Parasites และการประยุกต์นาโนเทคโนโลยีเกี่ยวกับเชื้อปาราสิต เชื้อโรคที่แพร่ระบาดทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศลาตินอเมริกา จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผลงานทางวิชาการได้รับการอ้างอิงมากกว่า 1,000 ครั้ง และมีผู้อ่านกว่า 14,000 คน นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยที่ได้รับการจดลิขสิทธิ์/สิทธิบัตรทางปัญญา 2 เรื่อง คือ Method of Plasmodium falciparum DNA Extraction and Composition for Amoebicidal Activity และอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการจดลิขสิทธิ์/สิทธิบัตรทางปัญญาอีก 1 เรื่อง คือ Amoebicidal Activity of Leea Indica (Burm. F) Merr and its Constituent Gallic Acid ที่มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย

ความโดดเด่นในงานวิจัยด้านปาราสิตวิทยาทางการแพทย์ของ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช ทำให้สามารถสร้างเครือข่ายวิจัยกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย มหาวิทยาลัย Centro Escolar-Manila และ De La Salle University- Dasmariñas ประเทศฟิลิปปินส์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ คณะชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นต้น ภายใต้ชื่อ Southeast Asia Water Team (SEA Water Team) ซึ่งเป็นการวิจัยน้ำที่เกี่ยวกับปาราสิตวิทยาทางการแพทย์ สิ่งแวดล้อมและความแตกต่างทางชีวภาพ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2554 เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างผลผลิต เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมวิจัยของทุกสถาบันการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเครือข่ายระดับภูมิภาค การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระหว่างผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานวิจัยซึ่งส่งผลต่อ การยกระดับคุณภาพชีวิตจากคุณภาพน้ำในภูมิภาค พร้อมทั้งช่วยเหลือนักศึกษาทั้งจากประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และไทย ให้ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยผ่านเครือข่ายนี้

ยิ่งกว่านั้น รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง วีระนุช ยังมีความกระตือรือร้นในการพัฒนางานวิจัยที่ยึดผลผลิตตามธรรมชาติต่อต้านเชื้อโรค เช่น โปรโตซัว ได้แก่ Acanthamoeba, Plasmodium falciparum, Leishmania donovani แบคทีเรีย ได้แก่ Burkholderia, Klebsiella, Pseudomanas, Staphylococcus และเชื้อไวรัสต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ โดยความร่วมมือกับประเทศในสมาชิกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ออสเตรเลีย บังคลาเทศ จีน อินเดีย นิวซีแลนด์ ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช มีผลงานวิจัย/บทความทางวิชาการกว่า 100 เรื่อง ตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อเสียงในฐานข้อมูลของ ISI และScopus-indexed เช่น Lancet HIV, Frontier in Immunology, PLoS ONE, American Journal of Tropical Medicine and Hygiene, Frontier in Microbiology, Parasite and Vectors, Experimental Parasitology, Journal of Obstetrics and Gynecology และ Singapore Medical Journal และได้รับเชิญให้เป็น Guest Editor ในหนังสือ “Chagas Disease” ซึ่งจะตีพิมพ์เผยแพร่ในระยะเวลาอันใกล้นี้

นอกจากนี้ ยังมีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ เช่น Some Mosquitoes of Peninsular Malaysia, University of Malaya Press in 2012, Importance of Zoonotic Waterborne Pathogens in Animal Waste, Water Quality and Human Health, World Health Organization (WHO) in 2012, Toxoplasmosis in HIV/AIDS patients – A Living Legacy: Microbes, Viruses and Parasites in AIDS Process, INTECH in 2011, IgG Avidity and its Implication in Serodiagnosis; Trends in Immunolabelle of and Related Techniques, INTECH in 2012, Toxoplasma gondii: The Parasite in Trend: Parasites and its Vectors, Springer, 2013 โดยบทความวิชาการ เรื่อง Vermamoeba Vermiformis: Global Trend and Future Perspective ซึ่งจะตีพิมพ์เผยแพร่ใน Encyclopedia of Environmental Health ในต้นปี 2562 รวมทั้งได้ไปนำเสนอผลงานทางวิชาการในประเทศต่างๆ ทั้งทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา เช่น ประเทศอังกฤษ เยอรมัน จีน ออสเตรเลีย โปรตุเกส เม็กซิโก อินเดีย บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อาฟริกาใต้ ตูนิเซีย และไทย รวมทั้งเป็นผู้ประเมินบทความวิจัย (อาทิ The Lancet, Lancet HIV, Lancet Infectious Diseases, Frontiers, Transactions RSTMH เป็นต้น) เป็น สมาชิกกองบรรณาธิการ เป็น Associate Editor เป็น Lead Guest Editor และเป็น Guest Speaker ในงานเสนอผลงานวิชาการระดับนานาชาติอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช ได้สร้างความสัมพันธ์ทางวิชาการและงานวิจัย ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับนานาชาติ โดยร่วมเป็นภาคีสมาชิกองค์กรวิชาชีพต่างๆ เช่น International Union for Sexual Transmitted Infections (IUSTI), Malaysian Society of Parasitology and Tropical Medicine, (MSPTM), American Society of Parasitology (ASP) องค์การกุศลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ เช่น สิทธิและการคุ้มครองสัตว์ และการดูแลสัตว์ เป็นต้น

นอกจากงานทางด้านการเรียนการสอน การวิจัย และบริการวิชาการแล้ว รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช ในฐานะรักษาการหัวหน้าศูนย์วิจัยสู่ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และยังได้เป็นแกนหลักในการจัดสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติ International Conference in Biomedical Sciences 2018 (ICBM2018) ซึ่งเป็นการจัดสัมมนาทางด้านชีวเวชศาสตร์ ภายใต้แนวคิด “การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี” ระหว่างวันที่ 22-23 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการ พร้อมทั้งมีนักวิชาการจากหลายประเทศให้เกียรติมาเป็น Guest Speakers จนบรรลุวัตถุประสงค์ด้วยดี นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช ยังได้มีโอกาสต้อนรับ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสอนงานวิจัยให้กับนักศึกษาต่างชาติที่เลือกมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นสถานที่ฝึกงานในห้องปฏิบัติการระยะสั้นด้วย

จากผลงานต่างๆ ทั้งในด้านการเรียนการสอนและงานวิชาการด้านต่างๆ ของ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช นิสภาธร อาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ และในฐานะรักษาการหัวหน้าศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ จึงถือเป็นอีกหนึ่งบุคลากรคุณภาพของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

นางสมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง

TOP