Research News

กิจกรรมสร้างการรับรู้และระดมความคิดเห็น โครงการวิจัย “การพัฒนาแผนที่เขตแดนทางทะเลระหว่างจังหวัดชายทะเลของประเทศ”





เมื่อวันพุธที่ 8 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมตุมปัง อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พลเรือเอก จุมพล ลุมพิกานนท์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม/หัวหน้าโครงการวิจัย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ให้เกียรตินำจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้และระดมความคิดเห็น โครงการวิจัย “การพัฒนาแผนที่เขตแดนทางทะเลระหว่างจังหวัดชายทะเลของประเทศ” โดยมี รองศาสตราจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร รักษาการแทนคณบดี สำนักวิชารัฐศาสตร์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวต้อนรับคณะนักวิจัยและผู้เข้าร่วมกิจกรรม และหลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สาขาเทคโนโลยีทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร เป็นหน่วยงานผู้ประสานงาน โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หน่วยราชการ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจ ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้ประโยชน์จากทะเลในสาขาอาชีพต่างๆ เมื่อมีการกำหนดเขตแดนทางทะเลระหว่างจังหวัดชายทะเลของประเทศ



พลเรือเอก จุมพล ลุมพิกานนท์ ได้บรรยายใน หัวข้อ “ผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติทางทะเล” พร้อมการบรรยายพิเศษ โดย นาวาเอก เกษม เนียมฉาย นายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรองปลัดกระทรวงกลาโหม/ นักวิจัย หัวข้อเรื่อง “การพัฒนาแผนที่เขตแดนทางทะเลระหว่างจังหวัดชายทะเลของประเทศไทย” และนาวาโท สมาน ได้รายรัมย์ หัวหน้าแผนกเขตแดนทางทะเลระหว่างประเทศ กองสำรวจแผนที่ กรมอุทกศาสตร์ หัวข้อเรื่อง “รายละเอียดขั้นตอนและวิธีการจัดทำแผนที่ทางทะเล”

ผลที่ได้รับจากโครงการวิจัยฯ นี้ เพื่อสร้างความชัดเจนในการแบ่งเขตรับผิดชอบทางทะเล และใช้เป็นกรอบและทิศทางในการบริหารจัดการทะเลแบบบูรณาการ ให้มีความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัย เสรีภาพ เสถียรภาพ และสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์และการดำเนินกิจกรรมทางทะเลของทุกภาคส่วนอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ร่วมรับฟังและได้มีการซักถาม แลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างการรับรู้ถึงวันที่เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) ในวันที่ 12 สิงหาคม 2556 ซึ่งพื้นที่เกาะกระ หรือหมู่เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับว่า มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีระบบความหลากหลายทางชีวภาพที่หลากหลายของทั้งพรรณพืชและสัตว์ สมควรอย่างยิ่งที่คนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และทุกคนในประเทศไทย จะได้ร่วมกันดูแลเกาะกระให้คงอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ตราบรุ่นชั่วลูกหลานสืบไป

ตลอดช่วงที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มุ่งมั่นในการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ โดยส่งเสริมให้มีการผลิตและเผยแพร่งานวิจัย สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานภายนอก รวมทั้งในต่างประเทศ ดำเนินการด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีปณิธานอันแน่วแน่ที่จะบุกเบิก แสวงหา บำรุงรักษา และถ่ายทอดความรู้ เพื่อสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้า และความเป็นเลิศทางวิชาการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมสืบไป กิจกรรมวิจัยฯ นี้จึงเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ได้ช่วยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการกำหนดเขตทะเลชายฝั่งและแบ่งเขตจังหวัดทางทะเล เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ร่วมกับมุมมองและการรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนและชุมชนในท้องถิ่น

ประมวลภาพ

TOP