General News

มวล.จัดงาน วันภาษาไทยวลัยลักษณ์’61 อนุรักษ์และส่งเสริมภาษาไทย

อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ม.วลัยลักษณ์(มวล.) จัดงาน วันภาษาไทยวลัยลักษณ์ ประจำปี ๒๕๖๑ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมภาษาไทย พร้อมเชิญศิลปินนักร้อง ร่วมเวทีเสวนา และมอบโล่เชิดชูเกียรติปราชญ์ไทยภาคใต้ จำนวน ๒ คน



เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ จัดงานวันภาษาไทยวลัยลักษณ์ ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๑ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านภาษาและวรรณกรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สนองพระราชปณิธานในการอนุรักษ์ ส่งเสริมภาษาไทย โดยได้เชิญ คุณรัชนก ศรีโลพันธุ์ (ศิลปินเพลงลูกทุ่ง) คุณไข่ มาลีฮวนน่า (ศิลปินนักร้อง) และคุณกิตติศักดิ์ สายน้ำทิพย์ (ผู้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงฟ้าร้องไห้) ร่วมเวทีเสวนา

ในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา กล่าวเปิดงาน รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานท่ามกลางครู นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกว่า ๓๐๐ คน ณ ห้อง ๕๓๐๑ อาคารเรียนรวม ๕ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์



รองศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ กล่าวว่า วันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคม เกิดขึ้นเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จไปเป็นประธานการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเด็น “ปัญหาการใช้ภาษาไทย” พระองค์ทรงให้ข้อคิดเห็นหลายอย่างในเรื่องการเขียน การอ่าน การพูดภาษาไทย ที่ถูกต้อง ทรงแสดงทรรศนะเกี่ยวกับปัญหาการใช้ภาษาไทยไว้หลายประการ ว่า “ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของมนุษย์ คือเป็นทางสำหรับการแสดงอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่น ในทางวรรณคดี เป็นต้น ฉะนั้นจำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี ประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเองซึ่งต้องหวงแหน ประเทศใกล้เคียงของเราหลายประเทศมีภาษาของตนเอง แต่ว่าเขาไม่ค่อยแข็งแรง เขาต้องพยายามหาทางที่จะสร้างภาษาของตนเองไว้ให้มั่นคง เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ ในทางออกเสียงคือออกให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้



รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ภาษาไทยเป็นวัฒนธรรมของชาติ ที่ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารสร้างความเข้าใจ สร้างสรรค์วรรณศิลป์และศิลปะที่เกี่ยวข้องในรูปแบบต่างๆ มาเป็นเวลานาน อาจจะก่อน พ.ศ.๕๐๐ เพราะในพระไตรปิฎกกล่าวถึงเมืองในภาคใต้ชื่อตามพรลิงค์ ซึ่งการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้คำตอบว่า เมืองนี้มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เขาคา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และน่าจะมีภาษาที่ใช้ในการพูดหรือการออกเสียงสืบทอดมาตามลำดับจนปัจจุบัน ต่อมามีการประดิษฐ์อักษรขึ้นมาใช้แทนเสียงเป็นครั้งแรก และยกย่องกันว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นผู้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย ไทยจึงมีการใช้อักษรหรือลายสือไทเขียนกันมาจากบัดนั้นจนกระทั่งถึงบัดนี้ คนไทยจึงมีทั้งภาษาพูดและอักษรไทยในการสื่อสาร ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญด้านภาษาไทย อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงจัดงานวันภาษาไทยวลัยลักษณ์’๖๑ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม ภาษาไทย และเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติปราชญ์ไทยภาคใต้ รวมถึงเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรสำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในภาษาไทยดียิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นบริการวิชาการแก่สังคม ตลอดจนเป็นกิจกรรมด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม

โอกาสเดียวกันนี้ ผู้ชนะเลิศการแข่งขันร้อยกรองและเพลงบอกเยาวชน เข้ารับโล่พระราชทานหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มอบโล่ เกียรติบัตรและเงินรางวัลแก่รองชนะเลิศ อันดับ ๑- ๒ และรางวัลชมเชย พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติปราชญ์ไทยภาคใต้ ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๑ เพื่อส่งเสริมและยกย่องบุคคลผู้ใช้ภาษาไทยพื้นบ้านได้ดีเป็นแบบอย่างในทางสร้างสรรค์ ซึ่งมีผู้ได้รับโล่ดังกล่าว จำนวน ๒ คน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ สาขาศิลปะและการแสดง และนายนิคม นกอักษร สาขาหัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้

นอกจากนี้ยังมีเสวนาหัวข้อ “เพลงไทยกับในหลวง รัชกาลที่ ๙" โดย คุณรัชนก ศรีโลพันธุ์ (ศิลปินเพลงลูกทุ่ง) คุณไข่ มาลีฮวนน่า (ศิลปินนักร้อง) และคุณกิตติศักดิ์ สายน้ำทิพย์ (ผู้เรียบเรียงเสียงประสานเพลงฟ้าร้องไห้) นิทรรศการ “พระอัจฉริยภาพด้านภาษาไทยของในหลวง รัชกาลที่ ๙” และนิทรรศการแสดงประวัติและผลงานปราชญ์ไทยภาคใต้ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ตลอดจนการร้องเพลงของศิลปินอีกด้วย











ประมวลภาพ

ข่าว/ภาพ ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร

TOP