Research News

ม.วลัยลักษณ์ จับมือธนาคารออมสินจัดโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” เสวนา “ค้นหาเอกลักษณ์ผ้าประจำ จ.นครศรีฯ ลายผ้ายกประจำ จ.นครศรีฯ”



ม.วลัยลักษณ์ โดย อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์และสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ร่วมกับ ธนาคารออมสิน จัดโครงการศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าประจำถิ่นให้กับกลุ่มเครือข่ายกลุ่มผ้าประจำถิ่น ภายใต้โครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” เพื่อศึกษา แลกเปลี่ยน ประสบการณ์เกี่ยวกับ “ผ้ายกเมืองนคร” ระหว่างผู้ประกอบการเครือข่ายกลุ่มผ้าประจำถิ่นและภาคส่วนต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องชฎา1 โรงแรมชฎา จังหวัดนครศรีธรรมราช

โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ประธานเปิดโครงการ กล่าวว่า โครงการศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าประจำถิ่นให้กับกลุ่มเครือข่ายกลุ่มผ้าประจำถิ่น เป็นความร่วมมือกันระหว่าง ม.วลัยลักษณ์และผู้สนับสนุนงบประมาณ คือ ธนาคารออมสิน เพื่อให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาได้นำความรู้ทางวิชาการและการศึกษา ค้นคว้า วิจัย มาช่วยเหลือและส่งเสริมด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งโครงการในวันนี้เป็น 1 ใน 10 โครงการย่อย ภายใต้ โครงการ“ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” เพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เรื่องผ้ายกเมืองนคร” หรือผ้าพื้นถิ่น โดยมี อาจารย์ ดร.ทัศนียา บริพิศ อาจารย์ประจำสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ เป็นที่ปรึกษากลุ่ม เชิญชวนพี่น้อง กลุ่มผู้ประกอบการ ผ้ายกเมืองนครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมหารือแลกเปลี่ยน เพื่อนำเอาความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของแต่ละท่านมารวมกันเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของกลุ่มทำให้ผ้ายกเมืองนครเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ถือเป็นเรื่องน่าปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ผ้ายกเมืองนครเป็นผ้าที่มีชื่อเสียงมาแต่สมัยโบราณ แม้แต่ในวรรณคดีไทยก็ได้กล่าวถึงผ้ายกว่า ถ้าแม่ทัพนายกองรบชนะศึก พระมหากษัตริย์จะพระราชทานผ้ายก โดยขณะนั้น ใช้ชื่อว่า “ผ้ายกพระยาละคร” ซึ่งมีทั้ง ยกทอง ยกเงิน ยกดอกธรรมดา อีกทั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเห็นถึงความสวยงามและความสำคัญของผ้ายก พระองค์ทรงเสด็จมาภาคใต้และส่งเสริมให้ชาวบ้านสืบสานเรื่องผ้ายก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ศูนย์ศิลปาชีพ เนินธัมมัง อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช หลังจากนั้นผ้ายกในพื้นที่จังหวัดอื่นๆของภาคใต้ได้รับการรื้อฟื้นให้กลับมาเป็นที่รู้จักและนิยมอีกครั้งเช่นกัน ด้วยคุณสมบัติของผ้ายก นอกจากความสวยงามแล้วยักเป็นผ้าที่ดูแลรักษาง่าย คงทน มีอายุการใช้งานที่ยืนยาว ผ้ายกจึงเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่ายิ่งของชาว จ.นครศรีธรรมราชและชาวไทยภาคใต้ที่จะต้องรักษาไว้ให้อยู่ชั่วกาลนาน และอยากเชิญชวนชาวภาคใต้ร่วมใจกันสวมใส่ผ้ายก เพื่อเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาผ้ายกให้คงอยู่สืบไป รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ กล่าว

โครงการศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าประจำถิ่นให้กับกลุ่มเครือข่ายกลุ่มผ้าประจำถิ่นในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับฟังประวัติผ้ายกเมืองนคร โดยตัวแทนนักศึกษาสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ “ที่มาและความหมายของลายผ้าภาคใต้” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อลิสา เลี้ยงรื่นรมย์ กิจกรรม “ค้นหาเอกลักษณ์ลายผ้าประจำถิ่น จ.นครศรีธรรมราช โดย อาจารย์ ดร.ทัศนียา บริพิศ และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน วิทยากรประจำกลุ่ม 5 กลุ่ม Focus Groups ค้นหาเอกลักษณ์ลายผ้า (ผ้ายก) ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช โดย ดร.ลือชัย วงศ์ทอง นักวิจัยกระบวนการ ม.บูรพา อาจารย์ฑิยากร บุญวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญผ้าพื้นเมือง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อลิสา เลี้ยงรื่นรมย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารภูมิปัญญาไทยและดร.ปัณฑ์ภากร สมโรจน์รัตน์ ผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยอีกด้วย











ประมวลภาพ

ข่าวและภาพ โดย ชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร

TOP