News

รศ.ดร.วรวรรณ พันพิพัฒน์ : การทำวิจัยให้มากกว่าเรื่องวิชาการ

รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ พันพิพัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์การอาหารและนวัตกรรม สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับงานวิจัยในฐานะหัวหน้าโครงการกว่า 15 โครงการ และผู้ร่วมวิจัย 12 โครงการ ไม่นับรวมบทความวิจัยและบทความวิชาการ ตำรา และ Proceeding กว่า 100 เรื่อง ทำให้ตกผลึกทางความคิดที่ว่า “การทำวิจัยให้มากกว่าเรื่องวิชาการ”

รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจากสาขาเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุนารี เน้นการวิจัยด้านโปรตีนในอาหาร และในปี 2548 ได้ทำงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีอาหาร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นเวลา 5 ปี ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ จากนั้นในปี 2553 ได้รับทุนการศึกษาจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยออฮุส (Aarhus University) ประเทศเดนมาร์ก โดยเน้นการศึกษาวิจัยด้านไขมันในอาหาร ซึ่งเป็นการเปลี่ยนความเชี่ยวชาญจากการทำวิจัยในระดับปริญญาโทและงานวิจัยที่ทำอยู่ในช่วงปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เนื่องจากมองเห็นว่า พื้นที่ภาคใต้ที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่มีวัตถุดิบน้ำมันและไขมันเป็นจำนวนมาก ประกอบกับประเทศไทยมีนักวิจัยที่ทำงานด้านไขมันในอาหารจำนวนน้อย จึงน่าจะเป็นโอกาสอันดีในการนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศ

ในระหว่างการศึกษาระดับปริญญาเอกนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ ได้รับโอกาสให้ไปฝึกอบรมทางด้านเทคโนโลยีนาโน (Nanotechnology) จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้เป็นเวลา 3 เดือน จึงนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการทำวิจัยขั้นสูง ส่งผลให้สามารถผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ ทำให้ได้รับรางวัล Honored Student Awards 2013 จาก American Oil Chemists’ Society (AOCS) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านไขมันและน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยรางวัลดังกล่าวจะมอบให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีผลงานวิจัยโดดเด่นด้านไขมันและน้ำมัน นอกจากนี้ AOCS Biotechnology Division ยังได้มอบรางวัล 2013 2nd student paper competition Award จากผลงานวิจัยเรื่อง “Improved acylation of phytosterols catalyzed by Candida antarctica lipase A with superior catalytic activity” ให้อีกด้วย ทั้งยังได้ร่วมเขียน Book Chapter จำนวน 2 บท ในหนังสือด้านไขมันจากสำนักพิมพ์ AOCS

เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกในปี พ.ศ. 2556 รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ ได้กลับมาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีความมุ่งมั่นในการทำวิจัยและการสอนด้านไขมันและโปรตีนในอาหาร ซึ่งเป็นการบูรณาการองค์ความรู้จากการทำวิจัยทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเข้าด้วยกัน ทั้งยังมุ่งเน้นพัฒนานักวิจัยด้านไขมันและโปรตีนในอาหาร จึงมีนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาทั้งการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมกว่า 20 คน รวมทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งหน่วยวิจัยอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งต่อมาได้ถูกยกระดับเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารในปี 2560

รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ ได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกทั้งในฐานะผู้วิจัยหลักและผู้ร่วมวิจัยกว่า 30 โครงการ ซึ่งหลายโครงการได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับภาคเอกชน เพื่อมุ่งเน้นการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และยังได้นำองค์ความรู้ไปบริการวิชาการแก่ผู้ประกอบการอาหารในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและภาคใต้ เช่น บริษัท ช โปรเซสซิ่งฟู๊ด จำกัด บริษัท ช เกษตรรุ่งเรือง จำกัด บริษัท เซโกฟาร์ม จำกัด กลุ่มนาข้าวแซมดิน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครื่องดื่มสมุนไพรโพธิ์เสด็จ และกลุ่มทำนาบ้านเพิง เป็นต้น รวมทั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตรวจประเมินโครงการวิจัยและบทความวิจัย เพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติจำนวนมาก

จากผลงานวิจัยที่ทำให้ได้ประโยชน์ในแง่ของผลงานทางวิชาการและการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้นแล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ ยังได้เรียนรู้หลายอย่างจากการทำงานวิจัย

ประการที่ 1 เรียนรู้การวางแผนงาน เริ่มตั้งแต่การมองหาแหล่งทุนวิจัย การเขียนข้อเสนอโครงการให้ตรงกับความต้องการของแหล่งทุน และการวางแผนดำเนินโครงการหลังจากที่ได้รับทุนวิจัย โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ ได้ยกตัวอย่างการมองหาแหล่งทุนวิจัยก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก โดยเลือกที่จะเสนอขอทุนพัฒนาศักยภาพอาจารย์รุ่นใหม่ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นทุนแรก เนื่องจาก สกว. เป็นแหล่งทุนวิจัยขนาดใหญ่ของประเทศ ที่สำคัญการได้รับทุนพัฒนาศักยภาพอาจารย์รุ่นใหม่ และมีผลการวิจัยในระดับที่ดี จะส่งผลต่อการได้ทุนที่สูงขึ้นจาก สกว. เช่น ทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)

ดังนั้น หลังจากที่อาจารย์สอบป้องกันวิทยานิพนธ์เสร็จ 1 สัปดาห์ ได้กลับมารายงานตัว เพื่อทำงานต่อที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และเพื่อให้ทันกำหนดเวลาในการขอทุน ซึ่งขณะที่อยู่ต่างประเทศได้คิดหัวข้อและสืบค้นหาข้อมูลสำหรับการเขียนข้อเสนอโครงการเตรียมไว้ล่วงหน้า ดังนั้น การขอทุนวิจัยครั้งแรกนี้ จึงใช้เวลาเขียนข้อเสนอโครงการสั้นที่สุดในชีวิต ในที่สุดก็ได้รับการจัดสรรทุนดังกล่าว ส่งผลให้ผ่านการประเมินคุณสมบัติทุน คปก. รุ่นที่ 21 ตามที่ได้วางแผนไว้

ประการที่ 2 เรียนรู้การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ รองศาสตาจารย์ ดร.วรวรรณ เล่าว่า การทำวิจัยนั้นต้องมีความรับผิดชอบต่อแหล่งทุน จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ตั้งแต่การบริหารจัดการคน (ผู้ช่วยวิจัย) การบริหารโครงการวิจัย และการบริหารเงินทุน เพื่อให้งานวิจัยสำเร็จตามเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องทำงานวิจัยหลายๆ เรื่อง และสอนนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาไปพร้อมกัน ดังนั้น การทำวิจัยที่ดีจึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเข้ามาเกี่ยวข้อง

ประการที่ 3 เรียนรู้เรื่องความอดทน เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ ไม่คิดว่าจะได้เรียนรู้จากงานวิจัย โดยอาจารย์ได้เล่าให้ฟังว่า ขณะที่กำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 ได้ทำวิจัยเรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มกึ่งสำเร็จรูปเพื่อสุขภาพจากข้าวไข่มดริ้น: ข้าวพันธุ์พื้นเมือง จ.นครศรีธรรมราช” ซึ่งมีการติดตามความก้าวหน้าของงานทุก 2, 6 และ 12 เดือน จึงจำเป็นต้องทำรายงานและวิเคราะห์ผลตลอดเวลา หลังจากที่คลอดลูกแล้ว 1 สัปดาห์ ก็ต้องไปนำเสนอรายงานความก้าวหน้าแบบปากเปล่า นับได้ว่า เป็นงานวิจัยที่ต้องใช้ความอดทนและมานะพยายามสูงที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผลจากความทุ่มเทในการทำโครงการวิจัยนี้ ส่งผลให้ผลงานวิจัยเรื่องดังกล่าวได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากข้าวไข่มดริ้น “ชาข้าวแซมดิน” เป็น 1 ใน 6 ผลงานที่ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย และจัดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมนี้เป็นของที่ระลึกในการประชุมสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2560 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นประธาน รวมทั้งได้จัดแสดงในงานมหกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2560 (Thailand Research Expo 2017) และเข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อ “การเพิ่มมูลค่าข้าวพันธุ์พื้นเมือง” ณ เวที Highlight stage อีกด้วย

ล่าสุดงานวิจัยเรื่องนี้ ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลงานวิจัยเด่นในทุนวิจัยมุ่งเป้าของกลุ่มเรื่องเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเพื่อวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งได้รับเชิญให้ไปจัดแสดงในการประชุมวิชาการ “แผนยุทธศาสตร์สนับสนุนทุนวิจัยและการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ทั้งระบบ” เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ

ประการที่ 4 เรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา นับตั้งแต่การเริ่มเขียนข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนทุนวิจัย จำเป็นต้องสืบค้นข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาใช้อ้างอิง สนับสนุนแนวคิดและวางแผนการทำวิจัย จนถึงผลการทำวิจัยที่ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ ทำให้เกิดการศึกษาและความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา

ประการที่ 5 เรียนรู้การคิดเชิงสร้างสรรค์ รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ เล่าว่า การขอทุนสนับสนุนการวิจัยโดยเฉพาะจากแหล่งภายนอกจำเป็นต้องเสนอเรื่องที่น่าสนใจและเป็นเรื่องใหม่ และเป็นเรื่องที่เราเชี่ยวชาญ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ หัวข้อต้องมีความสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นที่มาของการได้รับรางวัลการเขียนข้อเสนอโครงการนวัตกรรม “ระดับดีมาก” และผลงานนวัตกรรม “ระดับเหรียญเงิน” จากผลงานเรื่อง “เจลทำความสะอาดมือเพื่อกำจัดกลิ่นคาวปลาและอาหารทะเล” ในกลุ่มอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Food and Health Products) จากการประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษาปี 2561 ในงาน มหกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2561 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 9-12 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอก คอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยได้รับรางวัลจาก ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ประการสุดท้าย คือ สร้างความร่วมมือทั้งในวงวิชาการและภาคเอกชน การทำงานวิจัยทำให้ รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ มีโอกาสพบปะพูดคุยกับบุคคลต่างๆ ทั้งในแวดวงวิชาการ ภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งนำไปสู่การสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย และการทำโครงการวิจัยร่วมกันหลายโครงการ

“การทำวิจัยทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และงานวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ และนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นอกเหนือจากการพัฒนาตนเองและนักศึกษา” รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ พันพิพัฒน์ กล่าวในตอนท้าย


ประวัติและผลงาน

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนสื่อสารองค์กร เรียบเรียง

TOP